In Bangkok
'ปลาหมอคางดำ'ถูกบรรจุลงในเมนูกทม. 'BKK Food Bank ของเขตบางขุนเทียน'
กรุงเทพฯ-BKK Food Bank เขตบางขุนเทียน รังสรรค์ “ปลาหมอคางดำ” เป็นเมนูสู่กลุ่มเปราะบาง พร้อมโชว์เมนูเด็ดจากปลาหมอคางดำ 6 เมนูเด็ด ได้แก่ ปลาหมอคางดำราดซอสเปรี้ยวหวาน ปลาหมอคางดำทอดเกลือ ห่อหมกปลาหมอคางดำ ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ แกงส้มปลาหมอคางดำ และปลาร้าจากปลาหมอคางดำ
(19 ก.ค. 67) ณ สำนักงานเขตบางขุนเทียน : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม BKK Food Bank และสาธิตการทำเมนูอาหารด้วยปลาหมอคางดำที่รับซื้อจากเกษตรกรชาวบางขุนเทียน โดยสำนักงานเขตบางขุนเทียนโชว์ฝีมือผ่าน 6 เมนูเด็ด ได้แก่ ปลาหมอคางดำราดซอสเปรี้ยวหวาน ปลาหมอคางดำทอดเกลือ ห่อหมกปลาหมอคางดำ ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ แกงส้มปลาหมอคางดำ และปลาร้าจากปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก 2 เชฟมือทอง ได้แก่ เชฟชุมพล - คุณชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร (Soft Power) ที่มารังสรรค์เมนู Fine Dining ปลาหมอคางดำราดพริกสมุนไพร และเชฟชีส - คุณเมธัส ปาทาน Corporate Chef บริษัท สหสเตนเลส สตีล จำกัด ที่มารังสรรค์เมนู Fine Dining ปลาหมอคางดำราดซอสมะขาม
● ชวนลดจำนวนปลาหมอคางดำด้วยการนำมาทำอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มแทนการจับไปทิ้ง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ เขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางบอน ซึ่งมีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากและอาจทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ นั้น กรุงเทพมหานครได้เร่งประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน อาทิ กรมประมง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนได้ 6 มาตรการในการแก้ปัญหา คือ 1. ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ 2. กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการปล่อยปลาผู้ล่า 3. นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ 4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำ 5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด 6. ติดตาม ประเมินผล
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตาม 6 มาตรการของกรมประมง โดยเราได้ดำเนินการใน 3 เรื่อง 1. กำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ 2. นำปลาหมอคางดำที่กำจัดมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3. หาแนวร่วมโดยประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ สำหรับสำนักงานเขตบางขุนเทียนได้ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตบางขุนเทียนได้ช่วยซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) โดยให้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท และยังมีเชฟชีส จากสหสเตนเลสสตีล กับเชฟชุมพล ประธานอนุกรรมการฯ Soft Power มาร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการลดจำนวนปลาหมอคางดำโดยการจับมาสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการจับไปทิ้ง โดยวันนี้ได้มีการแจกปลา 1 ตัน ทั้งในรูปแบบปลาสด และแบบนำมาทำอาหารแล้ว ให้แก่กลุ่มเปราะบาง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสื่อมวลชนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งในส่วนของรสชาตินั้น เมื่อนำมาทำอาหารแล้วพบว่ามีความอร่อยไม่แพ้เนื้อปลาอื่น ทั้งนี้ การกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศและนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการนำมาทำอาหารเพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มเปราะบาง จะขยายผลไปยัง BKK Food Bank สำนักงานเขตอื่น ๆ ด้วย
ด้านเชฟชุมพล กล่าวว่า สำหรับท่านที่ยังไม่เคยลองทาน รสชาติปลาหมอคางดำจะคล้ายกับปลานิล แต่อาจจะมีความกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะเขาเป็นปลาสายพันธุ์ปลานักสู้/ปลานักล่าเช่นเดียวกับปลาช่อนหรือปลากะพง ข้อดีคือเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง เชื่อว่าด้วยภูมิปัญญาในการทำอาหารหลากหลายชนิดของคนไทย ทั้งนำปลาตัวใหญ่ไปทำอาหาร และนำปลาตัวเล็กไปทำปลาร้า ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก และจะลดจำนวนได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าประมาณ 3 เดือน อาจจะหาจับได้ยากและราคาสูงขึ้น
เชฟชีส กล่าวว่า ปลาหมอคางดำทานได้ แม้รสชาติของเนื้อปลาจะน้อยกว่าปลาที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เมื่อนำมาทำอาหารไทยซึ่งมีรสชาติเข้มข้น จะทำให้สามารถทานได้เหมือนปลากะพงหรือปลานิลทั่วไป โดยมีข้อสังเกตระหว่างปลาตัวผู้กับปลาตัวเมียที่ขนาดตัว คือ ปลาตัวผู้จะตัวเล็กกว่า เนื้อกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะมีหน้าที่รับฝากไข่ ส่วนปลาตัวเมียจะตัวใหญ่
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปด้วยว่า กรุงเทพมหานครทำเต็มที่ในส่วนที่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องการจำกัดโซน การปล่อยปลาผู้ล่า จะต้องฝากทางกรมประมง ทางรัฐบาล มาร่วมกัน ซึ่งเราพร้อมที่จะเดินตามนโยบายอย่างเต็มที่
● เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการ BKK Food Bank
“สำหรับโครงการ BKK Food Bank เป็นการนำคนที่มีเยอะและอยากแบ่งปันมาเจอคนที่ยังขาด โดยกรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมาย BKK Food Bank Center หรือธนาคารอาหาร ให้ครบทั้ง 50 เขต ตอนนี้มีแล้ว 33 เขต” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อยหรือตกงาน ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ที่ยังขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิต กลายเป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และถูกทิ้งเป็นขยะทุกวัน กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำโครงการ BKK Food Bank ขึ้น ซึ่งนับเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่คนเมือง (Food Safety) และสร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามแนวคิด SDGs ในเป้าหมายที่ 2 Zero Hunger หรือยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
ในการดำเนินการ BKK Food Bank ระยะแรก ได้มีการนำร่องในพื้นที่ 4 เขต ประกอบด้วย เขตบางขุนเทียน เขตห้วยขวาง เขตบางพลัด เขตพระโขนง และตั้งเป้าหมายดำเนินการให้ครบทั้ง 50 เขต ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 33 เขต ซึ่งในส่วนของการดำเนินการ BKK Food Bank เขตบางขุนเทียน ได้แบ่งรูปแบบการดำเนินการออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบที่ 1 BKK Food Bank Center (ธนาคารอาหาร) ซึ่งเป็นการดำเนินการรวบรวมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค จากผู้ที่อยากแบ่งปันให้ไปถึงผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนจาก Lotus’s สาขาพระรามที่ 2 และผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่เขต โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 65 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 3,500 ราย
ทั้งนี้ BKK Food Bank Center มีรูปแบบการดำเนินการลักษณะคล้ายร้านสะดวกซื้อ ณ บริเวณชั้น 1 สำนักงานเขตบางขุนเทียน เปิดให้บริการในทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 12.00 น. มีการใช้ระบบแจกพาสปอร์ตสะสมแต้มแก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านระบบ E-Case และลูกจ้างที่มีรายได้น้อย จากนั้นกลุ่มเป้าหมายจะนำแต้มที่เขตมอบให้มาแลกอาหารหรือสิ่งของที่ต้องการกลับไป ซึ่งเขตได้เริ่มดำเนินการด้วยระบบพาสปอร์ตสะสมแต้มนี้เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 67 จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 227 ราย จากจำนวนกลุ่มเปราะบางที่สำรวจในชุมชน 639 ราย โดยเขตจะหมุนเวียนจนครบจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดและดำเนินการสำรวจกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
รูปแบบที่ 2 BKK Food Bank ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food Surplus) ให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างเขต และมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 ถึงปัจจุบัน โดยนำอาหารที่ใกล้หมดอายุ แต่ยังไม่หมดอายุ ยังบริโภคได้มาส่งต่อ ทั้งนี้ มีเซเว่น อีเลฟเว่น เข้าร่วมจำนวน 9 สาขา และมีผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 2,674 ราย จำนวนอาหาร 4,946 มื้อ รวมน้ำหนักอาหารที่บริจาค 1,177.82 กิโลกรัม ปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ 2,979.88 kgCO2e (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
รูปแบบที่ 3 กิจกรรม “BKT แบ่งกัน ปันสุข” ซึ่งเป็นการดำเนินการสนับสนุนอาหารสดพร้อมทาน อาทิ ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ขนม และเครื่องดื่ม เป็นจำนวนจาน/ชาม/แก้ว จากผู้ประกอบการในพื้นที่เขต โดยเขตจะแจกคูปองอาหารให้กลุ่มเป้าหมาย ทุกวันศุกร์ ซึ่งตัวคูปองสามารถนำมาแลกอาหารได้ภายในระยะเวลา 5 วันหลังจากวันที่ได้รับ ปัจจุบันมีร้านค้าภายในโรงอาหารเขตบางขุนเทียนและร้านค้าภายในตลาดนัดเขตบางขุนเทียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 15 ร้าน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับร้านค้าภายในสำนักงานเขตอีก 1 ช่องทาง โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้รับความช่วยเหลือแล้วทั้งสิ้น 222 ราย จากจำนวนกลุ่มเปราะบางที่สำรวจในชุมชน 639 ราย ซึ่งผู้สนับสนุนจะโอนเงินให้กับร้านค้าตามจำนวนคูปองที่ได้รับแลก
● พัฒนาการบริหารจัดการ BKK Food Bank อย่างเป็นระบบ
ปัจจุบันสำนักงานเขตบางขุนเทียนได้ดำเนินการใช้งานระบบการบริหารจัดการคลังสินค้าและการส่งต่ออาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคให้กับกลุ่มเปราะบาง ภายใต้โครงการ BKK Food Bank ที่พัฒนาโดยบริษัท เอส เจ พี เทคโนโลยี จำกัด (SJP GROUP) โดยเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67 เป็นวันแรก ซึ่งระบบการบริหารจัดการคลังสินค้าและการส่งต่ออาหารนี้ สามารถอำนวยความสะดวกและมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการโครงการ BKK Food Bank เขตบางขุนเทียน ได้ดังนี้ 1. สามารถบันทึกรายการและจำนวนสินค้าที่ได้รับจากผู้สนับสนุนแยกแต่ละประเภทเข้าสต๊อก (Stock) ด้วยการใช้เครื่องสแกนบาร์โคด 2. สามารถเก็บฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สิทธิในการรับความช่วยเหลือตามโครงการ BKK Food Bank และโครงการ BKT แบ่งกัน ปันสุข ของสำนักงานเขตบางขุนเทียน 3. สามารถคำนวณจำนวนแต้มสินค้าด้วยการใช้เครื่องสแกนบาร์โคด และระบบสามารถตัดจำนวนสินค้าจากสต๊อกเมื่อมีการยิงบาร์โคดที่สินค้า โดยสินค้าแต่ละประเภทจะมีการกำหนดจำนวนแต้มตามมูลค่า และกลุ่มเปราะบางสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการได้ในจำนวนแต้มที่ทางสำนักงานเขตบางขุนเทียนกำหนดไว้ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครพร้อมขยายการใช้งานระบบการบริหารจัดการคลังสินค้าและการส่งต่ออาหารให้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ต่อไป
● กทม. พร้อมเป็นกาว ประสานกรมประมงเยียวยาเกษตรกร
ในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเนื่องจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำนั้น ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ได้กล่าวว่า ในพื้นที่เขตบางขุนเทียนมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบที่ขึ้นทะเบียนไว้ ประมาณ 800 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอการเยียวยา
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า ทางกรมประมงได้มีการส่งหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเพื่อจัดสรรงบประมาณมาเยียวยา ซึ่งหากมีความคืบหน้าทางกรุงเทพมหานครจะทำการติดต่อเกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง
“เรื่องการเยียวยาต้องเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งกรมประมงเป็นหลัก คือดูภาพรวมทั้งประเทศ เพราะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ใช่แค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนเราจะเพิ่มเติมอะไรได้นั้น จะต้องดูระเบียบของเราอีกครั้งหนึ่ง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ในวันนี้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน คุณปิติ มนัสประกัลภ์ President Business Development บริษัท สหสเตนเลส สตีล จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน ผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม สื่อมวลชน ประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ร่วมกิจกรรม