Biz news

สับปะรดแปลงใหญ่ท่าหินโงมปีนี้ราคาตก



ชัยภูมิ-สับปะรดแปลงใหญ่ท่าหินโงม เมืองชัยภูมิ ปีนี้ผลผลิตน้อย  ขายไม่ได้ราคา ผลกระทบจากพิษโควิด-19

ผู้สื่อข่าวลงสำรวจการค้าขายสับปะรดสองข้างทาง   เส้นทางท่องเที่ยว 4 ตำบล  ภูแลนคา  ท่าหินโงม เก่าย่าดีและซับสีทอง ซึ่งเป็นเส้นทางที่เคยมีนักท่องเที่ยวที่นิยมท่องเที่ยวธรรมชาติ และผจญภัย เคยไปมาอย่างอุ่นหนาฝาคั่งไม่ขาดสาย ไม่เว้นวันธรรมดา และวันหยุด  พบแม่ค้า พ่อค้าตั้งร้านขายริมทาง นำสับปะรดท่าหินโงมมาวางขายหน้าร้านกันแทบทุกแห่ง  แต่คนซื้อกลับน้อย  บางตาอย่างเห็นได้ชัด  บางร้านบอกว่าบางวันขายได้น้อยจนเกือบไม่ได้ 

กำนันอุทิศ  ลาดจันทึก  กำนันตำบลท่าหินโงม  ประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดแปลงใหญ่ตำบลท่าหินโงมเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า  บริเวณเทือกเขาภูแลนคา ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ตำบลคือตำบล ภูแลนคา  ท่าหินโงม เก่าย่าดีและซับสีทองนั้นมีพื้นที่ปลูกสับปะรดกว่า 2000 ไร่ ซึ่งรวมกันทำเป็นสับปะรดแปลงใหญ่ 3 แปลง ในส่วนที่ตนเองดูแลอยู่มีพื้นที่  514 ไร่  สมาชิก 37 ราย  ผลผลิตปีละอย่างน้อย 2800 ตัน (ประมาณ 55 ตัน/ไร่) ผลผลิตเหล่านี้  ส่วนหนึ่งส่งโรงงาน แปรรูป ที่จังหวัดชลบุรี ประมาณ 2ใน3 ของผลผลิต อีกส่วนหนึ่งส่งขายรายย่อยตามจังหวัดใกล้เคียงเช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม  ขอนแก่น อุบลราชธานี  และ ตามเส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะเส้นทางผ่านตำบลท่าหินโงม ส่วนราคาขายส่งโรงงานปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5000 บาท/ตัน ยังไม่หักค่าขนส่ง และโสหุ้ยอื่นๆ  ซึ่งถือว่าไม่มีกำไล และเกือบจะไม่คุ้มทุนที่อยู่ 4500 บาท/ตัน แต่ก็ต้องจำใจขายเนื่องจากผลผลิตออกแล้วจะเสียหายไปปล่าวๆ  ส่วนที่เหลือส่งขายเป็นรายย่อยตามน้ำหนักของผลคือผลเล็กสุด 3 จนถึง10 บาท/ก.ก.ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่

นายอุทิศ กล่าวว่า  ไร่สับปะรดของตนจะเน้นสับปะรดชีวภาพ ไม่ใช้เคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่หมักเอง ทำเองเป็นหลัก ตั้งแต่ปุ๋ยบำรุงดิน  บำรุงต้น  และเพิ่มความหวาน ของผลสับปะรด นอกจากนี้ ตนยังเก็บพันธุ์เอง ไม่ซื้อจากแหล่งอื่น เป็นการลดต้นทุนไปในตัว “สับปะรดท่าหินโงม มีเอกลักษณ์ด้านความหวานเป็นธรรมชาติ อมเปรี้ยวนิดๆตอนปลายถูกลิ้นคนไทย ผลสีสวย ราคาไม่แพง จึงเป็นที่นิยมของคนทั่วไป” ด้านผลผลิตปีนี้ออกมาค่อนข้างน้อย  เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดเป็นเวลานาน และหลานรอบ ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ขาดเงินทุนหมุนเวียน และการทิ้งช่วงของฝน ทำให้ชาวไร่ต้องปล่อยไร่ทิ้งร้าง เป็นไปตามธรรมชาติ  รอการปลูกในฤดูต่อไปเท่านั้น   อยากให้ราชการเข้ามาช่วยเรื่องการตลาด  โควต้าโรงงาน และ ราคาขายให้เป็นระบบ   จะทำให้ชาวไร่มีความมั่นคงและมั่นใจในอาชีพของตนมากขึ้นด้วย    ผู้สนใจหาซื้อไปรับประทานหรือขาย ให้ติดต่อ กำนันอุทิศ  ลาดจันทึก  กำนันตำบลท่าหินโงม  อำเภอเมืองชัยภูมิ

ชาติชาย สงวนรัมย์/ชัยภูมิ