EDU Research & ESG
นิด้าผนึกกำลังสกสว.แถลงข่าวเปิดตัว โครงการ HART
กรุงเทพฯ-โครงการ สำรวจ และศึกษาสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศ (Health, Aging, and Retirement in Thailand-HART) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการและจัดเสวนา หัวข้อ “วัยที่เปลี่ยนไป....กับบทบาทที่เปลี่ยนแปลง” ด้วยข้อมูลวิจัยจากครัวเรือนเดิมที่เป็นผู้สูงอายุในแต่ละรอบการสำรวจ ที่เก็บต่อเนื่องมาตลอด 12 ปี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ผู้สูงอายุไทยด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็น longitudinal data ถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในมิติต่างๆ เพื่อนำไปสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยให้เป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active aging) และมีสุขภาพดี (Healthy aging) เป็นที่สังคมที่ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระแก่ผู้ใด
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 -12.00 น. ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โครงการ สำรวจ และศึกษาสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศ (Health, Aging, and Retirement in Thailand-HART) จัดทำโดยศูนย์วิจัยสังคมผู้สูงอายุ ร่วมกันศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แถลงข่าวโครงการ HART โดยมี ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผู้บริหารสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คุณชลธิชา ขุนทอง ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) รวมถึงทีมวิจัยโครงการ HART แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ
โครงการ HART เป็นโครงการศึกษาเรื่องราวของคนไทย ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป จาก 5,600 ครัวเรือนทั่วประเทศ ดำเนินการเก็บข้อมูลทุกๆ 2 ปี ซึ่งเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวที่เก็บข้อมูลจากตัวอย่างเดิมที่เป็นผู้สูงอายุในแต่ละรอบการสำรวจ (Longitudinal Panel Survey) ตั้งแต่ปี 2557 และปัจจุบัน โครงการ HART เริ่มรอบการสำรวจรอบที่ 5 จากการสำรวจตัวอย่างคนเดิม จะช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิต โดยเฉพาะในมิติสังคม ตัวตน รายได้ และความพึงพอใจของผู้สูงวัย ซึ่งนำมาสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทย นอกจากนี้โครงการ HART ยังเป็นเครือข่ายของโครงการ Health and Retirement Study (HRS) – Around the world (HRS-ATW) และเครือข่ายโครงการวิจัยในอาเซียน
สำหรับกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “วัยที่เปลี่ยนไป....กับบทบาทที่เปลี่ยนแปลง” เป็นการเสวนาโดยคณะวิจัย อาทิ ผศ.ดร. ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ รศ. ดร. พาชิตชนิต ศิริพานิช และผศ. ดร.ปรีชา วิจิตรธรรมรส ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนผลการวิจัยจากโครงการ HART 4 รอบการสำรวจ ครอบคลุมปี 2557 – 2565 ซึ่งทำให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจในประเด็นต่อไปนี้
มิติด้านสุขภาพ Health H(E)ART to Health: แม้ร่างกายเปลี่ยนไป แต่สุขภาพใจสำคัญที่สุดต่อความพึงพอใจในชีวิตของผู้อายุทุกช่วงวัย และการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐ
มิติสุขภาพเป็นมิติสำคัญที่ส่งผลต่อการเกษียณอายุก่อนกำหนดของผู้สูงอายุ เนื่องจากกระทบต่อมิติด้านการมีงานทำ โดยการสำรวจมิติด้านสุขภาพเป็นการสำรวจทั้งสุขภาพกาย ได้แก่ การเจ็บป่วยและโรคจากการวินิจฉัยของแพทย์ ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ความจำหรือการรับรู้ (Cognition) พฤติกรรมทางด้านสุขภาพ เช่น โภชนาการ การสูบบุหรี การออกกำลังกาย และการเข้าถึงหรือเข้าใช้บริการสุขภาพสาธารณะ
โดย รศ. ดร. พาชิตชนิต ศิริพานิช อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ และ ผศ.ดร. ธิฏิรัตน์ พิมลศรี ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้นำข้อมูลจากโครงการ HART มาศึกษาเรื่อง Factors Influencing Elderly Life Satisfaction in Thailand: A Comprehensive Study on Socio-economic, Mental, and Physical Health, and Social Activity พบว่า ความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตในมุมมองของผู้สูงอายุเอง คือ “สุขภาพจิต” และ “ทรัพย์สินที่ถือครอง” ในขณะที่ “รายได้” “สุขภาพกาย” และ “การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม” ส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านคะแนนสุขภาพจิต
ขณะที่ ผศ.ดร.ปรีชา วิจิตรธรรมรส ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศึกษาเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพพบว่า เมื่อต้องเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลคนทั้งประเทศขึ้นไปถึง 70.71% และเมื่อพิจารณาประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปกับการใช้บริการทางสุขภาพเป็นคนไข้ใน (IPD) พบว่า เมื่ออายุมากขึ้น จำนวนครั้งที่เราต้องเข้าไปใช้บริการ จะสูงขึ้น ซึ่งถ้าเราติดตามผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ว่ามีการใช้บริการสูงมากน้อยแค่ไหน ความถี่ที่ต้องเข้าไปใช้บริการเป็นอย่างไร การทราบข้อมูลจะเกิดประโยชน์ต่อการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้
มิติด้านการสูงอายุ AGINGสังคมและการเกื้อกูล: เมื่อประชากรสูงวัย...โดดเด่น แต่มีแนวโน้มอยู่อย่าง... โดดเดี่ยว ส่งผลต่อบทบาทผู้สูงอายุในครอบครัว...ลดลง สภาพจิตใจผู้สงอายุ .... เงียบเหงา
รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบประเด็น 3 ข้อจากข้อมูล HART คือ ผู้สูงอายุไทยอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง บุตรยังเป็นที่พึ่งหลักของบิดามารดา และเกิดรูปแบบใหม่ของการเกื้อกูล/ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรเรียกว่า Distant-supportive (อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ)
ประเด็นแรกด้านผู้สูงอายุไทยอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลงและอยู่ในครัวเรือนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น พบว่า จำนวนสมาชิกในครัวเรือนโดยเฉลี่ย เปรียบเทียบเมื่อปี 2558 3.6 คน ขณะที่เมื่อปี 2565 เหลือ 3.4 คน และการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครัวเรือนใหญ่มีแนวโน้มลดลง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สูงอายุไทยอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้น โดย ในปี 2558 9.4% และเพิ่มขึ้นในปี 2565 เป็น 12.6% และผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันตามลำพังในครัวเรือนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก พ.ศ. 2558 17.7% เพิ่มขึ้นเป็นเป็น 31.4% ใน ปี พ.ศ. 2565 และเมื่อพิจารณาผู้สูงอายุที่มีอายุ มากกว่า 80 ปี ในปี 2565 อยู่คนเดียว 8.9% และอยู่กับผู้ที่ไม่ใช่ครอบครัวหรือญาติ 1.2% ดังนั้น ผู้สูงอายุบทบาทเดิมเป็นเสาหลัก จะเปลี่ยนมาเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุน ดังนั้นข้อเสนอนโยบายคือ การจัดระบบเยี่ยมเยียน และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์ หรือ เรียกว่า One Community One Park เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี และการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
ประเด็นที่สอง ด้าน บุตรยังเป็นที่พึ่งหลักของบิดามารดา โดยการเกื้อกูลระหว่างกันยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง (จากปีพ.ศ. 2558 95.2% ปี 2565 94.8%) แต่รูปแบบของการเกื้อกูลจะเปลี่ยนไป โดยผู้สูงอายุที่เป็นผู้รับอย่างเดียวจะลดลง (ปี 2558 28.3% ขณะที่ปี 2565 16.5%) แต่ผู้สูงอายุจะมีบทบาทเป็นทั้งรับทั้งให้เพิ่มขึ้น (ปี 2558 64.3% และปี 2565 73.6%) ส่วนจำนวนเงินที่ได้รับจากบุตรลดลง จากปี 2558 ผู้สูงอายุได้รับจากบุตร 24,000 บาท ลดลงในปี 2565 10,000 บาทต่อปี ดังนั้นจากอดีตบทบาทหลักคือ การเป็นผู้รับจากบุตร เปลี่ยนไปเป็น ผู้ให้และผู้รับ (รวมทั้งหลาน) แต่การให้ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปที่ไม่ใช่ตัวเงิน ดังนั้นข้อเสนอแนคือ ควรปลูกฝังเรื่องความกตัญญู การรู้จักเสียสละ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้กับเด็กรุ่นหลังๆ
ประเด็นสุดท้ายคือ การเกิดรูปแบบใหม่ของการเกื้อกูล/ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรเรียกว่า Distant-supportive ผลการวิจัย ในปี พ.ศ. 2565 การเกื้อกูล/ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรพบรูปแบบใหมคือ อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ หรือ Distant-supportive หมายถึง ที่พักอาศัยของบุตรอยู่ห่างไกลจากบิดามารดา ไม่ค่อยพบปะเห็นหน้ากัน แต่มีการพูดคุยกับบุตรบ่อยๆ โดยใช้ social media ได้รับความช่วยเหลือจากบุตรทั้งในรูปของเงินและไม่ใช่เงิน และมีการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่เงินกับบุตรด้วย ดังนั้นนโยบาย ควรส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอนให้ผู้สูงอายุรู้จักการใช้ social media พร้อมจัดหา อุปกรณ์ในราคาถูกและให้สามารถเข้าถึง internet ได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ผศ. ดร. รติพร ถึงฝั่ง อาจารย์ประจำ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปรียบเทียบข้อมูลด้านความคาดหวังและความพึงพอใจในชีวิต ในปี พ.ศ. 2558 และปี พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้สูงอายุมีความคาดหวังในชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และมีความพึงพอใจในชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะความพึงพอใจในบุตรและคุณภาพชีวิตโดยรวม และต่ำที่สุดคือ ความพึงพอใจในสภาพเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุมีแนวโน้มพึ่งพาตนเองในการแก้ปัญหาและดูแลจิตใจมากขึ้น
มิติด้านการเกษียณ Retirementการมีงานทำ: งานมั่นคง = ความมั่นใจ
ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีสัดส่วนการทำงานที่ลดลงจากปีที่เริ่มสำรวจในปี 2558 โดยเฉพาะในปีสำรวจ 2560 และ 2563 และสัดส่วนนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีสำรวจ 2565 (จากร้อยละ 45.05 ในปีฐานเป็น ร้อยละ26.7 ร้อยละ 31.84 และร้อยละ 44.71 ตามลำดับ) สัดส่วนการมีงานทำจะลดลงไปตามอายุที่สูงมากขึ้น และเพศหญิง มีสัดส่วนในการทำงานต่ำกว่าเพศชาย โดยกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ ตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป) ยังมีสัดส่วนการทำงานอยู่ประมาณร้อยละ 3 – 5 การยังคงมีทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงาน ส่วนสาเหตุสำคัญของการออกจากงาน คือ ระบบเกษียณอายุการทำงาน ปัญหาสุขภาพ และภาระการดูแลครอบครัว และอายุเฉลี่ยในการทำงานต่อไปของผู้สูงอายุชายอายุ 60 ปีและมีงานทำอยู่ที่ประมาณ 6 ปี โดยผู้สูงอายุหญิง จะมีอายุการทำงานต่อไปโดยเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 4 ปี หากนำระดับการศึกษาเข้ามาพิจารณา จะพบว่า หากมีระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยม ผู้สูงอายุผู้ชาย จะมีอายุเฉลี่ยในการทำงานจากอายุ 60 ปี ต่อไปอีก Working life expectancy ที่สามารถขยายต่อไป เป็น Healthy working life expectancy ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อนโยบายการขยายอายุเกษียณต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือ สภาพัฒน์ หรือกรมกิจการผู้สูงอายุ ในการวางแผนการสร้างงานสำหรับประชากรสูงอายุ ในเพิ่มการเข้าใจในชีวิตการทำงานของผู้สูงอายุในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพลัง (Active aging)
ข้อเสนอแนะจากผลการเก็บข้อมูลโครงการ HART
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทย จากนี้ไปอีกประมาณ 16 ปี (พ.ศ. ปี 2583) สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% หรือประมาณ 20.5 ล้านคน ดังนั้นผลการเก็บข้อมูลโครงการ HART จะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐเข้าใจ “ตัวตน” แต่ละช่วงชีวิตของผู้สูงอายุไทย เพื่อกำหนดนโยบายและสวัสดิการที่รองรับชีวิตในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สังคมสูงอายุของประเทศไทย เป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active aging) และมีสุขภาพดี (Healthy aging) เป็นที่สังคมที่ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระแก่ผู้ใด โดยทีมวิจัยโครงการ HART มีข้อเสนอเชิงนโยบายดังนี้
1.ด้านสุขภาพ ควรสร้างสุขภาพกายและใจแก่ผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว สำหรับสำหรับผู้สูงอายุวัยกลางถึงวัยปลาย: Long-term care นอกจากประเด็นความทั่วถึง/เข้าถึงได้สะดวก ควรเน้นนโยบายและมาตรการด้านสุขภาพทางการเงินและสุขภาพจิตของสมาชิกครอบครัวที่ต้องออกจากงานมาดูแล และนโยบายและมาตรการด้านส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรด้านการดูแลบริบาล และการบริหารจัดการสถานดูแลบริบาลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุวัยต้นและผู้ที่กำลังจะสูงอายุ: Preventive care การสร้างสุขภาพที่ดี ได้แก่ โภชนาการ การออกกำลัง การสร้างเครือข่ายทางสังคม การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
2.ด้านครอบครัวและการเกื้อกูล ควรสร้างการมีส่วนร่วมในครอบครัวและในชุมชน (สร้างความสัมพันธ์ข้ามรุ่น และสร้างเครือข่ายทางสังคม ได้แก่ นโยบายและมาตรการการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างวัยในครัวเรือนเดียวกัน การส่งเสริมในสมาชิกครอบครัวอยู่อาศัยด้วยกัน หรือใกล้กัน โดยเฉพาะรุ่นหลาน (ลูกของลูก) และส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมด้านจิตอาสา
3.ด้านการมีงามทำสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สำหรับผู้สูงอายุวัยต้นและผู้ที่กำลังจะสูงอายุ ได้แก่ นโยบายและมาตรการการขยายอายุเกษียณงาน นโยบายและมาตรการการจ้างงานผู้สูงอาย นโยบายและมาตรการด้านระบบบำเหน็จบำนาญ นโยบายและมาตรการทางการประกันการดูแลรักษาระยะยาว (Long-term care insurance)
ทั้งนี้ ข้อมูล HART ได้มีการเก็บรวบรวมมาทั้งหมด 4 รอบสำรวจ จัดเก็บไว้ในห้องข้อมูลที่ศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ และเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยการลงทะเบียนเพื่อของเข้าใช้ https://hart.nida.ac.th และสามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ตัวตนผู้สูงอายุได้ที่ www.facebook/hartnida