Authority & Harm

มึน!ปลาหมอคางดำแปดริ้วหลังเป็นข่าว! ราคาร่วงจากโลละ30บาทเหลือ10บาท



สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา ข่าว-ปลาหมอคางดำราคาร่วง หลังถูกกระพือกระแสในสื่อถึงการระบาด

ฉะเชิงเทรา-ปลาหมอคางดำราคาร่วงหนัก หลังถูกกระพือจนเป็นข่าวใหญ่ เกิดเป็นกระแสในสื่อถึงการแพร่ระบาด ยอมรับมีหลุดลงไปในทะเลย่านชายฝั่งสองคลองบางปะกงแล้ว ขณะคลองบนบกยังพบในพื้นที่เดิมที่ชาวบ้านเคยพบเห็น ส่วนผลกระทบต่ออาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ยังไม่มี ระบุส่วนใหญ่เกษตรกรทำฟาร์มแบบพัฒนาแล้ว ด้านประมงจังหวัดโอดปฏิบัติหน้าที่แบบไร้เงินงบประมาณหนุนในการกำจัด

วันที่ 20 ก.ค.67 เวลา 11.40 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายคนึง คมขำ ประมง จ.ฉะเชิงเทรา ถึงสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ล่าสุดว่า ยังคงพบอยู่ในพื้นที่ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และย่าน ต.บางเกลือ ต.สองคลอง ต.หอมศีล ใน อ.บางปะกง โดยในตำบลบางกระเจ็ดนั้น ได้ทำการตรวจสอบภายในลำคลองในพื้นที่จำนวน 6 คลองและพบว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ในลำคลองรวม 4 คลอง โดยพบมากในคลองบางกระพ้อ ในอัตราความหนาแน่น 400 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ แต่ไม่หนาแน่นมากจนถึงขั้นลอยหัวในน้ำให้เห็น นอกจากจะใช้เครื่องมือทำประมงจับ จึงจะสามารถจับขึ้นมาได้

ส่วนการระบาดในพื้นที่ อ.บางปะกง นั้นมีสาเหตุมาจากเขื่อนทำนบดินกั้นปากคลองประเวศบุรีรมย์พังถล่มเมื่อช่วงเดือน เม.ย.67 และมีน้ำเค็มไหลทะลักเข้าไปยังในพื้นที่จำนวนมาก โดย อ.บางปะกง เป็นพื้นที่รอยต่อกับ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดสามสมุทรที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำมาก เมื่อมีการสูบกลับน้ำทะเลที่ทะลักเข้าไปเพื่อระบายออกมาทางแม่น้ำบางปะกง จึงทำให้ปลาหมอคางดำจากในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ไหลมาตามกระแสน้ำระบาดเข้ามายังในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ตามลำคลองบริเวณแนวรอยต่อของจังหวัดที่เชื่อมถึงกัน

ขณะเดียวกันยังพบว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ใกล้กับแนวชายฝั่งทะเลใน ต.สองคลอง หลังมีชาวบ้านจับได้ ซึ่งพื้นที่พบปลาหมอคางดำในแถบย่าน ต.บางกระเจ็ดนั้น มีชาวบ้านพบปลาชนิดนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว และมีการจับมาขายได้ในราคา กก.ละ 20-30 บาท เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นปลาหมอเทศ หรือเป็นปลานิลชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อมีกระแสเกี่ยวกับปลาหมอคางดำถูกตีแผ่ผ่านทางสื่อ จึงทำให้ราคาปลาหมอคางดำมีราคาตกลงมาเหลือเพียง กก.ละ 10-15 บาทเท่านั้น

ส่วนการกำจัดปลาหมอคางดำ ในขณะนี้ยอมรับว่าไม่มีงบประมาณสนับสนุนในการกำจัด โดยได้รับเพียงคำสั่งให้กำจัด โดยที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนมาให้ จึงต้องอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้ออุปกรณ์ประมง ในการนำมากำจัดในเบื้องต้นเท่านั้น

ในด้านผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ยังไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลาหรืออาชีพประมงอื่นๆ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มที่พัฒนาแล้ว และมีการกรองน้ำขณะสูบนำน้ำจากคลองสาธารณะมาใช้ จึงไม่มีการระบาดเข้าไปยังภายในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ นายคะนึง กล่าว 

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา