In Bangkok

กทม.จัดระเบียบผู้ค้าหน้าตลาดพรานนก ควบคู่ปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ



กรุงเทพฯ-จัดระเบียบใหม่ผู้ค้าหน้าตลาดพรานนก ควบคู่ปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ ชมคัดแยกขยะวัดใหม่ยายแป้น คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างโครงการเพลส 168 ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย 

(23 ก.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ประกอบด้วย 

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 181 ราย ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่จะตั้งวางแผงค้าจำหน่ายอาหารสด อาหารทะเล รวมถึงผักสดและผลไม้ตามฤดูกาล พื้นที่ทางเท้าจะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา อาจก่อให้เกิดความสกปรกเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล ที่ผ่านมาเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ ภายหลังการปรับปรุงทางเท้าแล้วเสร็จ ซึ่งกรุงเทพมหานครมีโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ ช่วงจากถนนประชาธิปกจนถึงถนนสุทธาวาส ครอบคลุมพื้นที่เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางกอกน้อย ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2567 สิ้นสุดวันที่ 14 มกราคม 2568 โดยเขตบางกอกน้อยมีพื้นที่ทำการค้า 3 จุด ได้แก่ หน้าตลาดพรานนก หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งซ้าย หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งขวา จึงมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปรับปรุง โดยให้ผู้ค้าหยุดทำการค้าตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้เขตฯ ได้พิจารณาหาแนวทางจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ โดยให้ผู้ค้าทำการค้าด้านหน้าอาคารเพียงด้านเดียว ส่วนผู้ค้าด้านที่อยู่ริมถนนให้ย้ายไปทำการค้าในตลาดพรานนก ซึ่งจากการพูดคุยกับเจ้าของตลาดพบว่ายังมีแผงค้าว่างสามารถรองรับผู้ค้าได้อีกจำนวนหนึ่ง

ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 587 ราย ได้แก่ 1.ท่าน้ำพรานนกฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ถนนวังหลัง (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 123 ราย 2.ปากตรอกวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 25 ราย 3.ซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 38 ราย 4.หน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 181 ราย 5.หน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ (ทั้ง 2 ฝั่ง) ผู้ค้า 30 ราย 6.ตลาดบางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 172 ราย และ 7.ไปรษณีย์บางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 18 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้าบริเวณหน้าตลาดบางกอกน้อยทั้ง 2 ฝั่ง และหน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 13 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 126 ราย ได้แก่ 1.ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 2 ราย 2.ถนนอิสรภาพหน้าร้าน 7-11 ผู้ค้า 4 ราย 3.หน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย 4.เวิ้งปิ่นเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 5.หน้าวัดเจ้าอามและฝั่งตรงข้ามวัด ผู้ค้า 12 ราย 6.หน้าไปรษณีย์บางขุนนนท์ ผู้ค้า 8 ราย 7.ปากซอยบางขุนนนท์ 2 ผู้ค้า 3 ราย 8.ปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3-5 ผู้ค้า 17 ราย 9.หน้าห้างแม็คโคร ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ผู้ค้า 19 ราย 10.ถนนบางขุนนนท์ ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 20 ราย 11.ปากซอยแสงศึกษา หน้าโรงพยาบาลธนบุรี ผู้ค้า 13 ราย 12.หน้าโรงเรียนชิโนรส ผู้ค้า 7 ราย และ 13.ตรงข้ามห้างพาต้า ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 2.ถนนอรุณอมรินทร์ 3.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 4.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ 5.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 และ 6.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ วัดใหม่ยายแป้น ถนนบางขุนนนท์ พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร มีพระภิกษุ 45 รูป จำนวน 20 กุฏิ เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีเศษอาหารจำนวนน้อย เพราะพระภิกษุและทางวัด แจกจ่ายอาหารให้ฆราวาสและลูกศิษย์วัด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านการอุปโภคบริโภค 2.ขยะรีไซเคิล ทางวัดและชุมชนดำเนินการร่วมกัน โดยคัดแยกขยะออกเป็น ขยะพลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว กระดาษ นำขยะรีไซเคิลที่ได้จากการคัดแยกมาขาย เพื่อเป็นรายได้ในการบริหารของวัดและชุมชน 3.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บขยะมูลฝอยทั่วไป ช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ทุกวันจันทร์ 4.ขยะอันตราย ทางวัดจะคัดแยก เขตฯ จัดเก็บขยะอันตรายเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 100-120 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 90-100 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 15-20 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1.5-2 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 3-5 กิโลกรัม/เดือน 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเพลส 168 ปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 4 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 28 ชั้น อาคาร B ความสูง 23 ชั้น อาคาร C ความสูง 27 ชั้น อาคาร D ความสูง 27 ชั้น อาคารสระว่ายน้ำและห้องออกกำลังกาย ความสูง 2 ชั้น อาคารจอดรถยนต์ ความสูง 8 ชั้น อาคารพักขยะมูลฝอย ความสูง 1 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง ประเภทจุดถมดินท่าทราย 2 แห่ง ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

ในการนี้มี นายวรชล ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล