In News

โดรนฉีดพ่นยาโควิดฝีมือกลุ่มพัฒนาคูบัว



ราชบุรี-เข้าถึงทุกพื้นที่ กลุ่มพัฒนาคูบัว นำโดรนเพื่อการเกษตรใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ฉีดพ่นตามหมู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

วันที่ 24 พ.ค.64 ที่บริเวณบ้านใหม่ หมู่ที่ 7 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี นายประยงค์ ทิมเพราะ ประธานกลุ่มพัฒนาคูบัว พร้อมด้วย นายไชยนต์ รุจจารี รองประธานกลุ่มฯ สมาชิกกลุ่ม ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำเครื่องบินไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ใช้ในการเกษตร มาประยุกต์ใช้โดยการนำเอา น้ำยาฆ่าเชื้อโรคมาพ่นตามบ้านโดยที่ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ทำการฉีดเข้าไปยังบ้าน เพียงแค่นำโดรนบินเข้าไปก็สามารถฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นการลดการเสี่ยงในการทำงานลง นอกจากนี้ยังได้ให้โดรนไปบินฆ่าเชื้อที่บ้านของ นางพิกุล จันทะ อายุ 59 ปี ซึ่งน้องสาวได้เดินทางมา ที่บริเวณใกล้ๆ บ้านของตน แล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงได้ร้องขอให้ทางกลุ่มพัฒนาคูบัวมาฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อให้ ทำให้ชาวบ้านที่เห็นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นที่นี่เป็นที่แรก ที่นำเอาโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ เรียกว่าแปลกใหม่สำหรับชาวบ้านและคิดว่าน่าจะทั่วถึงมากกว่าอีกด้วย

นายประยงค์ ประธานกลุ่มพัฒนาคูบัว กล่าวว่า ตำบลคูบัวมีกลุ่มเสี่ยงเยอะ และติดกันเชื้อกันประมาณ 5 ครอบครัว และมีกลุ่มเสี่ยงเกือบร้อยคน ซึ่งทางเราไม่มีชุดป้องกันเชื้อที่จะให้จนท.เข้าไปฉีดพ่นยา จึงใช้โดรนในการฉีดพ่นยา เพื่อเป็นการป้องกันตัวของจนท. และเรายังใช้โดรนนำเครื่องอุปโภคบริโภคคนส่งให้กับผู้กักตัว เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ซึ่งการใช้โดรนฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ทำให้มีการฉีดพ่นได้ทั่วถึงขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของจนท.ได้มากขึ้น ซึ่งการใช้โดรนฉีดพ่นต่อครั้งจะใช้น้ำยา 10 ลิตร โดยตอนนี้อยู่ในขั้นทดลองจึงได้ใช้โดรนเช่า อนาคตหากได้ผลดีจึงจะตัดสินใจซื้อ เพราะโดรนตัวหนึ่งมีราคาถึง 3 แสนบาท โดยตอนนี้ได้ทดลองฉีดพ่นมา 3 หมู่บ้านแล้ว ส่วนบ้านไหนไม่มีความเสี่ยง จะใช้คนเข้าไปฉีดดังเดิม ส่วนตำบลไหนร้องขอให้ไปช่วยฉีดพ่น ก็จะนำโดรนไปฉีดพ่นให้ โดยสามารถติดต่อมาทางทีมงาน 

ขณะที่ นายไชยนต์ รองประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า เดิมทีเราการฉีดพ่น ในส่วนของหมู่ 1-15 เราได้ใช้รถโมบายในการฉีดพ่น แต่หลังมีการติดเชื้อเกิดขึ้น จึงเกิดไอเดียนำโดรนมาฉีดพ่น ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน นอกจากนี้ กลุ่มของพัฒนาคูบัว ยังใช้โดรนนำถุงยังชีพของใช้ที่จำไปมอบให้กับชาวบ้านที่กักตัวอยู่กับบ้าน และกลุ่มเสี่ยงให้ทุกหลังคาเรือน ซึ่งเราเล็งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือเรื่องของการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อให้ได้บริเวณกว้าง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกพึงพอใจ ลดความกังวลใจ และมองว่าการทำงานครั้งนี้เรามีประสิทธิภาพสูงมาก ที่สำคัญเป็นการลดความเสี่ยงของจนท.ในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้ออีกด้วย 

ส่วน นางพิกุล จันทะ กล่าวว่า น้องสาวของตนเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา น้องสาวได้เดินทางมาหาที่บ้านของตน แต่มาแล้วไม่เจอใครจึงนั่งรออยู่แถวศาลพระภูมิหน้าบ้าน ต่อมาจึงทราบว่าติดเชื้อและเข้าการรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้คนในบ้านเกิดความหวาดกลัวกันเป็นอย่างมาก จึงร้องขอให้จนท.นำยามาฉีดพ่นให้ที่บ้าน ซึ่งทางจนท.ได้นำโดรนมาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อให้ จึงมีความรู้สึกแปลกใจมาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้ และรู้สึกดีเพราะการพ่นแบบนี้ ตนคิดว่าน่าจะทั่งถึง ทำให้ตนและคนในบ้านรู้สึกอุ่นใจปลอดภัย

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี