In Global

นักวิจัยไทย-จีนร่วมพัฒนา'อุปกรณ์ตรวจ วัดสภาพอวกาศ'ในภารกิจฉางเอ๋อ7ปี69



ไทยมีความร่วมมือกับจีนในการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสำรวจอวกาศหลายโครงการ โดยในปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก (DSEL) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) ร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) ระหว่างไทยและจีน เพื่อพัฒนา “อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ”

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติระบุว่า เมื่อเดือนเมษายน 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และวิจัย (playload) เพื่อรองรับภารกิจการสำรวจอวกาศของยานฉางเอ๋อ 7 เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ ชื่อว่า Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope หรือ “MATCH” สำหรับตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูง ได้แก่ อิเล็กตรอน และโปรตรอน ภายใต้รังสีคอสมิกในวอากาศ และศึกษาผลกระทบระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ จากอนุภาคที่ตรวจวัดได้ โดยโครงการนี้ได้รับการคัดเลือก ให้เป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์ที่จะติดตั้งไปสำรวจดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 7 ภายในปี 2569 ภายใต้โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ของจีน (International Lunar Research Station) ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน

ทีมพัฒนาโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศนี้ ประกอบด้วยทีมพัฒนาฝ่ายไทย 22 คน และทีมพัฒนาฝ่ายจีน 7 คน โดยอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศจะติดตั้งกับยานโคจรรอบดวงจันทร์ (lunar obiter) ในภารกิจฉางเอ๋อ 7 ซึ่งจะโคจรที่ระดับความสูง 200 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ 

อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศนี้มีน้ำหนักประมาณ 4,900 กรัม มีขนาดกว้าง 130 ยาว 110 สูง 250 มิลลิเมตร ประกอบด้วย ตัวตรวจวัดซิลิกอน 7 ชั้น เพื่อจำแนกอัตลักษณ์ของอนุภาคพลังงานสูงแต่ละชนิด ทิศทางของอนุภาคมีประจุ และอิทธิพลของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ ที่มีต่ออนุภาคเหล่านี้ เพื่อให้ได้องค์ความรู้นำมาต่อยอดในการพัฒนาระบบแจ้งตือนภัยด้านสภาพอวกาศได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์รังสีภาคพื้น เครื่องมือวัดเชิงรังสีทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคต่อไป 

นอกจากโครงการนี้ นักวิจัยไทยและจีนยังมีความร่วมมือในการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศอีกหลายโครงการ โดยไทยมีแผนจะนำชิ้นส่วนบางส่วนลงไปยังพื้นผิวดวงจันทร์พร้อมกับยานสำรวจของจีนภายใน 5 ปี ข้างหน้า หรือ ภายในปี 2571 อีกด้วย

ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในโครงการนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการร่วมพัฒนาองค์ความรู้กับทีมวิจัยของจีนที่ประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศในหลายภารกิจ เป็นการยกระดับขีดความสามารถของนักวิจัยและวิศวกรไทยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศต่อไป

บทความ/ภาพ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ