EDU Research & ESG

ทีอีไอเดินหน้าเร่งหนุนการบริโภคที่ยั่งยืน ด้วย'ฉลากเขียว'จัด#มารักษ์กันครั้งที่2 



กรุงเทพฯ-สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI องค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืน แท๊กทีมองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดกิจกรรมเดินขบวน "รักษ์โลก รักษ์ด้วยสินค้าฉลากเขียว" เผยแพร่ความรู้ วิธีการเลือกผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว รวมถึงบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รุกกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน ที่มีแนวคิดและพร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม โดยกิจกรรมจัดขึ้น เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2567 บริเวณถนนสีลม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และตลาดนัดจตุจักร พร้อมการเก็บข้อมูลจากประชาชน และประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับข่าวสารของฉลากเขียว

ฉลากเขียว เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมที่มีเกณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งคงคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นสื่อของการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลและต่างผนึกกำลังร่วมกันเพื่อหาทางรับมือ ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายไว้ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ปี 2030 (พ.ศ.2573) การที่จะเข้าใกล้เป้าหมายนั้นได้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งองคาพยพ และที่ผ่านมาร่วม 30 ปีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เกี่ยวกับฉลากเขียว และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวมาแล้วกว่า 1 หมื่นรุ่น มากกว่า 200 บริษัท ใน 4 กลุ่มสินค้า คือ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านและที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ก่อสร้าง บริการ และยานพาหนะ

“การจัดกิจกรรมรณรงค์ไปตามพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมาย เช่น ย่านสีลม ที่ตั้งสำนักงาน บริษัทเอกชน และบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พื้นที่ที่มีประชาชนสัญจรผ่านจำนวนมาก ในครั้งนี้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงชุดความรู้ และยังเป็นการสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น เพิ่มความตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปยังกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ที่มีแนวคิดและพร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น หน้าที่ของเราคือให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการฉลากเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิธีสังเกตโลโก้ฉลากเขียวบนบรรจุภัณฑ์ หรือหีบห่อของสินค้านั้นๆ เราต้องสื่อสารออกไปว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวเป็นเรื่องง่ายที่ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย สามารถทำได้ โดยผลประโยชน์นั้นจะตกแก่สิ่งแวดล้อม และทุกคนที่อยู่ในสังคม เราเริ่มจากการปรับเปลี่ยนง่ายๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่”

ด้านคุณจารุกาญจน์ ราษฎร์ศิริ ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการขนส่ง องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย ซึ่งโครงการ Scaling SCP เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนงานการปกป้องสภาพภูมิอากาศในระดับสากล กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณู และคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) มีเป้าหมายในการส่งเสริมนโยบายด้านผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า การประชาสัมพันธ์ฉลากเขียว ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่1 ของประเทศไทยซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและบ่งบอกให้ผู้บริโภคทราบถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์

“เราต้องการให้ประชาชนได้รับความรู้ในการเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นโยบายความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแส แต่เป็นการสร้างให้เห็นว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนับจากนี้เป็นต้นไป เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อโลก”

สำหรับกิจกรรมเดินขบวน "รักษ์โลก รักษ์ด้วยสินค้าฉลากเขียว" ครั้งนี้ มีภาคเอกชน บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน), บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เซลล๊อกซ์ จำกัด เดินหน้าส่งเสริมด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการร่วมสนับสนุนกิจกรรม

ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานฉลากเขียว ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายและบริหารฉลากเขียว ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรสื่อและผู้บริโภค โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ มีภารกิจสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการประเภทต่างๆ 2. การให้การรับรองฉลากเขียวกับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าและบริการที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3. การประสานความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม