Think In Truth

มหากาพย์..'กัญชา'..มหาภัยหรือยาวิเศษ ชาวโลก(ตอนที่ 1)โดย : ฅนข่าว2499



หลังจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดตามแรงผลักดันของพรรคภูมิใจไทย นอกจากกัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชนแล้ว ยังถูกจับเอามาเป็นตัวประกันต่อรองเกมอำนาจทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ในปัจจุบัน

ทั้งนี้โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่าดอกกัญชาจะต้องกลับเข้าสู่โหมดเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม เพื่อเป็นการสกัดกั้นยาเสพติดที่นับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น  หากแต่พลพรรคภูมิใจไทยและบรรดาสายเขียวต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ได้ลงทุนปลูกกัญชาไปแล้วในวงกว้าง และในที่สุดก็หาทางออกโดยมีข้อสรุปร่วมกันว่าให้ออกเป็นกฎหมาลูกมาใช้ควบคุมกัญชาอย่างจริงจัง

ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องกัญชาทางผู้เขียนจึงขอย้อนอดีตความเป็นมาเพื่อไขข้อข้องใจและปมปัญหาที่ว่ากัญชาเป็นยาเสพติดเป็นมหาภัยต่อสังคมชาวโลกหรือว่าเป็นยาวิเศษเป็น “พืชมหัศจรรย์” ที่ใช้รักษาโรคตามที่ได้มีการบันทึกในตำราหรือไม่

ตามที่ได้กล่าวว่ามาแล้วว่า กัญชาถือว่าเป็นพืชมหัศจรรย์และพืชเศรษฐกิจโลกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งโดยบริษัทวิจัยในสหรัฐอเมริกา ประมาณการณ์เอาไว้ว่าตลาดกัญชาโลกจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างมหาศาล กล่าวคือ  ในปี 2025 จะมีมูลค่าถึงระดับ 1.8 ล้านล้านบาท

ขอย้อนไปเมื่อปี 2562 หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่หลายฝ่ายเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้มีการปรับแก้กฎหมายโดยให้กัญชาทั้งในเชิงการแพทย์และสันทนาการโลกในที่สุดประสบความสำเร็จ

ถ้าจะว่าไปแล้ว ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นชาติแรกที่มีการแก้กฎหมายใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ เช่นเดียวกับ “เกาหลีใต้” ที่เป็นชาติแรกในเอเชียที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้แล้วในปี 2018(2561)ที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายชาติทั่วโลกได้มีความเคลื่อนไหวขยับแก้กฎหมายเพื่อใช้กัญชาเช่นกัน โดยแคนาดาเริ่มบังคับใช้กฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ และนิวซีแลนด์ได้ขยายการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้ครอบคลุมมากขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการจัดลงประชามติเรื่องการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในการเลือกตั้งปี 2020

จากการปรับแก้กฎหมายกัญชาของทั่วโลก ทำให้ แกรนด์ วิว รีเสิร์ช บริษัทวิจัยในสหรัฐ คาดการณ์ว่าตลาดกัญชามีแนวโน้มจะเติบโตจนมีมูลค่าถึง 5.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025

สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ โบ วิทนีย์ รองประธานและนักวิเคราะห์อาวุโสของนิวฟรอนเทียร์ดาต้า บริษัทวิจัยตลาดกัญชา เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐ มีมูลค่าอยู่ที่ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.38 แสนล้านบาท) ในปี 2018 โดยการจ้างงานในอุตสาหกรรมผลิตกัญชาอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนตำแหน่ง

วิทนีย์ระบุว่า เงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมกัญชาภูมิภาคอเมริกาเหนือในปี 2018 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.25 แสนล้านบาท) มากกว่าเงินลงทุนของ 3 ปีก่อนหน้านี้รวมกัน โดยรวมแล้วคาดว่าตลาดกัญชาอเมริกาเหนือจะมีมูลค่าทะลุ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.2 แสนล้านบาท) ในปี 2019

ทั้งนี้ สหรัฐยังจัดกัญชาเป็นยาเสพติดประเภทเดียวกับเฮโรอีนในระดับรัฐบาลกลาง ซึ่งในขณะนี้มีเพียง 2 ใน 3 ของทั้งหมด 50 รัฐ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ และมี 10 รัฐ ที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้แล้วทั้งรัฐนิวยอร์กนิวเจอร์ซีย์เพนซิลเวเนียและอิลลินอยส์ก็วางแผนที่จะผลักดันการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการให้ถูกกฎหมายเช่นกัน

จากความคืบหน้าที่มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาทั่วโลก ทำให้บริษัทผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่บางแห่งเริ่มหันมาสนใจกัญชามากยิ่งขึ้น

เอบี อินเบฟซึ่งเป็นค่ายเบียร์สัญชาติเบลเยียม ได้ร่วมมือกับทิลเรย์ ผู้ผลิตกัญชาในแคนาดา ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,266 ล้านบาท) สำหรับการวิจัยเครื่องดื่มส่วนผสมของกัญชา และไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งส่งผลให้เอบีอินเบฟ กลายเป็นบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายที่ 3 ที่ลงทุนหรือร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตกัญชาในแคนาดา

ทั้งนี้ ทิลเรย์ยังเป็นผู้ผลิตกัญชารายแรกที่ออกหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้นใหญ่ของสหรัฐ โดยระดมทุนได้ 153 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,950 ล้านบาท) เมื่อเดือน กรกฏาคม2018

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทยังทำได้เพียงแค่ร่วมมือวิจัยเท่านั้น เนื่องจากการผ่านกฎหมายกัญชาสันทนาการของแคนาดาที่เริ่มบังคับใช้ไปแล้วยังไม่ครอบคลุมถึงการนำกัญชามาดัดแปลงหรือใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม

ขณะเดียวกัน กัญชายังกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเมื่อไม่นานมานี้ อัลเทรีย เจ้าของแบรนด์บุหรี่มาร์ลโบโร ได้ลงทุน 1,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.91 หมื่นล้านบาท) ซื้อหุ้น 45% ในโครนอส กรุ๊ป ผู้ผลิตกัญชาในแคนาดา เพื่อหาโอกาสใหม่สำหรับการฟื้นรายได้ หลังตลาดบุหรี่ในสหรัฐซบเซา เนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากการลงทุนของแบรนด์บุหรี่แล้ว การปลูกกัญชายังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ปลูกยาสูบดั้งเดิมด้วยโดย ไมค์ โกเรนสไตน์ ซีอีโอโครนอส เปิดเผยว่า การร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างอัลเทรียและโครนอส อาจจุดกระแสให้ซัพพลายเออร์ยาสูบของอัลเทรียหันมาปลูกกัญชามากขึ้น หากมีการผ่านกฎหมายกัญชา ซึ่งปัจจุบันอัลเทรียพึ่งพาการผลิตยาสูบจากเกษตรกรนอกบริษัทนับหลายพันราย

นอกจากนี้ อัลวิน ไท นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า กัญชายังอาจเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรถั่วเหลืองในสหรัฐด้วยเช่นกัน หลังผู้ปลูกถั่วเหลืองได้รับผลกระทบรายได้ลดลงจากมาตรการกำแพงภาษีของจีน

อย่างไรก็ตามกัญชาในหลายประเทศ ไม่ถือเป็นสารเสพติด เพราะเขาว่ามันเป็นเพียงพืชล้มลุกจำพวกหญ้า เป็นพืชไม่มีสารไม่เสพติด ไม่มีผลข้างเคียง แม้จะเลิกเสพกะทันหัน ไม่มีผลต่อความสามารถต่างๆของผู้เสพ

กล่าวกันว่า เมื่อเทียบกันแล้ว สุราหรือบุหรี่ที่มีผลกระทบมากกว่ากัญชาและด้วยเหตุจึงทำให้หลายประเทศในโลกพยายามผลักดันให้กัญชาไม่ผิดกฎหมาย แต่ให้อยู่ภายใต้การควบคุม อีกทั้งหากใช้ในปริมาณไม่มากนัก กัญชายังมีสรรพคุณในทางบวกมากกว่าทางลบอีกด้วย

ในทางการแพทย์ กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคและบรรเทาอาการได้หลากหลาย แก้อาการไอ อ่อนล้า โรคไขข้อ บรรเทาหอบหืดเพราะช่วยขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลม แก้อาการสั่นเพ้อ ปวดหัวไมเกรนและปวดประจำเดือน หรือกระทั่งโรคมะเร็งก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผลข้างเคียง ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด ใช้เป็นสารกระตุ้นความอยากอาหารนอกจากนี้แล้วยังจะช่วยชะลอการลดน้ำหนักคนที่เป็นมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น

แต่กระนั้นกัญชาก็ยังมีฤทธิ์ที่ทำให้ผู้เสพมีความคิดเลื่อนลอยสับสน ความคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว หูแว่ว ดังนั้นหากใช้ในทางที่ถูก ปริมาณพอเหมาะแล้ว กัญชาถือเป็นสารไม่เสพติดที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์อย่างล้นเหลือ ดังนั้นหากใช้ให้ถูกทางก็จะกลายเป็นประโยชน์ยิ่ง

บรรยายภาพ : การขายต้นกัญชาตามตลาดนัดใน ตปท.

ดังนั้น หลายประเทศจึงอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย อุรุกวัย แคนาดา และออสเตรเลีย รวมทั้งในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งนับเป็นรัฐที่ 6 ของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ขายปลีกกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา หลังจากอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ด้านประเทศอื่นๆ ในแถบสแกนดิเนเวีย อย่างเดนมาร์ก การสูบ-ปลูก-ครอบครองและขายกัญชา ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในขณะที่รัฐกำลังพยายามผลักดันพัฒนาเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ในต้นปี 2561 อีกทั้งในอีกฟากฝั่งยุโรปอย่าง “สเปน” เป็นประเทศแรกๆ ที่เปิดให้กัญชาถูกกฎหมาย และอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้และปลูกเองภายในบ้านได้ตามจำนวนที่กำหนด แต่ห้ามนำออกมาขายและซื้อ พร้อมสามารถพกติดตัวได้สูงสุด 40 กรัม  ขณะที่กรุงปรากของสาธารณรัฐเช็ค ก็เป็นอีกเมืองที่สามารถปลูกกัญชาในครอบครองได้ 5 ต้น เเละพกติดตัวได้สูงสุด 15 กรัม

เมื่อเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ประเทศเปรู ก็ได้ผ่านกฎหมายอนุญาตการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ หลังจากตำรวจได้บุกตรวจบ้านของ แอนา อัลวาเรซ ซึ่งเธอใช้เป็นแล็บสกัดกัญชาชั่วคราวเพื่อรักษาลูกชายของเธอที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ร่วมกับแม่อีกหลายคนที่มีลูกป่วยคล้ายกัน

กล่าวได้ว่า กว่าที่กัญชาจะมาเป็น “กัญชาถูกกฎหมาย” ในหลายประเทศทั่วโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องผ่านกระบวนการอันซับซ้อน ทั้งเสียงจากประชาชน การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนาทางการเเพทย์ ในสหรัฐอเมริกากว่าจะเสพกัญชาเพื่อ “ความบันเทิง” ได้ก็ต้องรอนานกว่า 3 ทศวรรษ

นอกจากนี้แล้ว การเปลี่ยนเเปลงของ “กัญชา” ผ่านยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากสิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้ เป็นยารักษาโรค เป็นเเม่เหล็กดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยว รวมไปถึงการโกยภาษีมหาศาลเข้ารัฐ เเต่ก็มีโทษเช่นเดียวกัน.

หมายเหตุ: สำหรับตอนต่อไปจะเป็นรายงานสถานการณ์กัญชาของบรรดาประเทศที่ใช้กัญชารักษาโรคอยู่ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน.