In News

รมว.อุตฯประชุมกับเทศบาลเมืองคิตะคิวชู การพัฒนาอุตฯรีไซเคิล/ดึงลงทุนในไทย



กรุงเทพฯ-รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา ยกทัพทีม อก. เปิดตัวนิคมฯ Circular พร้อมสร้างความร่วมมือนักลงทุนญี่ปุ่น สร้าง Supply chain สู่เป้าหมาย Zero waste

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประชุมแนวทางความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลของ Kitakyushu Eco-town กับคุณ Akitoshi KANEO ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองคิตะคิวชู และคุณ Junichi SONO ผู้จัดการสำนักส่งเสริมการเติบโตสีเขียว โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชยงการ ภมรมาศ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ที่ปรึกษาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโกศล สถิตธรรมจิตร กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ นายกิตติพันธุ์ บางยี่ขัน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายอุตสาหกรรม) ประจำกรุงโตเกียว นางนิภา รุกขมธุร์ รองผู้ว่าการสายงานยุทธศาสตร์ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการสายงานพัฒนาที่ยั่งยืน นางปนัดดา เย็นตระกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายงานยุทธศาสตร์ และผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอก

โดยทาง อก. และ กนอ. ได้ศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการทำ Eco-town เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนานิคม Circular  โดยภาครัฐมีการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่เข้ามาประกอบกิจการในอุตสาหกรรมรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ และมีกฎหมายกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ หลอดไฟ จะต้องนำกลับมารีไซเคิล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยความสำเร็จของ Eco-town ดังกล่าว ทั้งนี้ทางสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ และ กนอ. อยู่ระหว่างการหารือความร่วมมือกับเทศบาลเมืองฟูกูโอกะ และเทศบาลเมืองคิตะคิวชู เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการวัสดุ ตามแนวทาง Circular Economy เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนานิคม Circular ต่อไป 

ต่อมา เวลา 11.00 น. รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา และคณะ เข้ารับฟังการบรรยายและเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลแผ่นโซล่าเซลล์ ชนิด Crystal silicon ของบริษัท Recycle-Tech โดยการเผาแผงโซล่าเซลล์ด้วยอุณหภูมิสูง เพื่อแยกวัสดุและสารเคมีประเภทต่างๆ ออกจากกัน โดยก๊าซที่เกิดจากการเผาสารเคมีจำพวกเรซินจะถูกรวบรวมวนกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเผาไหม้ วัสดุอื่นที่แยกออกมาได้ ประกอบด้วย เศษแก้ว ลวดทองแดง และ silicon cell ที่มีธาตุเงินเป็นองค์ประกอบ จะถูกส่งต่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์อีกครั้ง โดยทางบริษัทฯ คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 จะมีแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วและนำเข้าสู่กระบวนการ recycle มากกว่า 200,000 แผงต่อปี ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของกำลังการรีไซเคิลของบริษัทฯ

ปัจจุบันจึงมีความจำเป็นต้องขยายกำลังการรีไซเคิลให้รองรับความต้องการในอนาคต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการในประเทศไทย ที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดการแผงโซล่าเซลล์เช่นเดียวกับการพัฒนานิคมฯ circular และ supply chain ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดการแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นประเด็นที่ กนอ. ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไป