In News
นายกฯปลื้ม!คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยดีขึ้น จากผลรายงานสถานการณ์ฯของปี2566
กรุงเทพฯ-นายกฯ ชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนช่วยในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม ยินดีสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยดีขึ้น พร้อมผลักดันการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระยะสั้น-ยาว
วันนี้ (27 กรกฎาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการต่อสู้กับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความห่วงกังวลจากทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ระบุว่าสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในหลายสาขามีทิศทางดีขึ้น อาทิ ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางเกษตร ปริมาณการผลิตและการใช้แร่ และการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริม รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยในรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ระบุว่าสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2565 ในหลายสาขามีทิศทางดีขึ้น เช่น ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยที่ลดลงร้อยละ 25.72 จากปี 2564 สะท้อนถึงปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีภายในประเทศและแนวโน้มการตกค้างของสารเคมีที่ลดลง ปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรลดลงร้อยละ 16.18 จากปี 2564 สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรในไทยลดลงตามไปด้วย และในบางสาขาอยู่ในระหว่างเฝ้าติดตามเพิ่มเติม เช่น ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะพลาสติก ของเสียอันตรายทั้งจากชุมชนและปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม และปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการยกระดับการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการกับปริมาณที่เพิ่มขึ้นของมูลฝอยชุมชน ขยะพลาสติก ของเสียอันตราย และมูลฝอยติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีการบูรณาการความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการดำเนินงาน โดยข้อเสนอในระยะสั้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า ครอบคลุมมาตรการ 3 ประการ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากภาคเกษตร การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรแร่ และการถอดบทเรียนและขยายผลมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศระดับพื้นที่ และข้อเสนอในระยะยาว 10 ปีข้างหน้า ที่คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทิศทางการพัฒนาประเทศ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ
ดังนี้ การจัดระบบสนับสนุนการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมบทบาทภาคการเงินการลงทุนเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มขีดความสามารถของภาคเกษตรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการบริโภคและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง “นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย เห็นว่าแม้ไทยจะอยู่ในโลกที่มีความท้าทาย มีความผันผวนสูง แต่ยังสามารถควบคุมสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมจนมีทิศทางดีขึ้นในหลายสาขา เชื่อว่าการบูรณาการความร่วมมือนี้จะขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายชัย กล่าว
ดูรายละเอียดของรายงานฯ : https://lookerstudio.google.com/u/0/reporting/d09a0a38-497d-4eb5-876e-8031213a129c/page/p_pzrm9xm8ed