In News
ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำมิ.ย.2567 อานิสงส์ท่องเที่ยวทำขยายตัวต่อเนื่อง
กรุงเทพฯ-“สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ และปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2567 ว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ และปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า: โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -1.5 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.8 ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -14.7 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -4.7 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายน 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.9 จากระดับ 60.5 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 5.9
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า: โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.2 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -7.7 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -25.3 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -7.5 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.5 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.5 ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -18.7 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -5.8
มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -0.3 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -1.6 ตามการลดลงของสินค้าน้ำตาลทราย ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยหดตัวที่ร้อยละ -51.9 -37.8 และ -24.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าข้าว ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 96.6 28.8 22.0 และ 20.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวลดลงในตลาดจีน ญี่ปุ่น และทวีปออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ -12.3 -12.3 และ -4.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ตลาดตะวันออกกลาง อินเดีย อินโดจีน (4) และสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 16.1 10.1 7.6 และ 5.4 ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมิถุนายน 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.74 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่¬¬อนที่ร้อยละ 22.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.9 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และ สปป. ลาว ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 21.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10.2 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.6 ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.3 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -4.7 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และผลผลิตในหมวดไม้ผล อย่างไรก็ดี ผลผลิตปาล์มน้ำมัน และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ ยังคงขยายตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 87.2 จากระดับ 88.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กำลังซื้อผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้สินที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี: สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 0.62 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.36 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 64.3 ต่อ GDP1 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ