In Bangkok
'วันทนีย์'เปิดสวนรักษ์หลักสี่อินฟินิตี้พาร์ค สวน15นาทีแห่งที่8ในพื้นที่เขตหลักสี่
กรุงเทพฯ-(30 ก.ค. 67) เวลา 08.30 น. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดสวน 15 นาที “สวนรักษ์หลักสี่ Infinity Park” บริเวณด้านหน้าสำนักงานเขตหลักสี่ โดยมี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
ซึ่งเขตหลักสี่ ได้พัฒนาสวนบริเวณด้านหน้าสำนักงานเขต พื้นที่ 30 ตารางเมตร จัดทำสวน 15 นาที “สวนรักษ์หลักสี่ Infinity Park” ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเป็นสวน 15 นาที แห่งที่ 8 ของเขตหลักสี่ เพื่อเป็นสถานที่ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้มาติดต่อราชการ และประชาชนโดยรอบสำนักงานเขต ได้ใช้พักผ่อนหย่อนใจและถ่ายรูปเช็กอิน โดยเขตฯ ได้ตัดแต่งต้นไม้ จัดทำทางเดิน ที่นั่งพักผ่อนจากวัสดุเหลือใช้ประเภทตอไม้ ตกแต่งสวนด้วยไม้ดอกไม้ประดับให้เกิดความสวยงาม ร่มรื่น และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การค้าไอทีสแควร์ในการพัฒนาสวนแห่งนี้
สำหรับที่มาของชื่อสวนนั้น คำว่า “สวนรักษ์หลักสี่” เขตฯ เลือกใช้คำว่า “รักษ์” ซึ่งมีความหมายว่า การรักษาหรือการดูแล ซึ่งสื่อความหมายได้ว่าสวนแห่งนี้ได้รักษาและดูแลโดยเขตหลักสี่ ส่วนคำว่า “Infinity Park” ได้ออกแบบทางเดินภายในสวนให้มีลักษณะคล้ายสัญลักษณ์ “Infinity” (∞) มีลักษณะเป็นวงกลมสองวงอยู่ติดกัน แทนความหมายว่า ไม่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขต เป็นอนันต์ และหากจะมองอีกด้านจะคล้ายเลข “8” ซึ่งบอกว่า สวน 15 นาที แห่งนี้ เป็นสวน 15 นาที แห่งที่ 8 ของเขตหลักสี่
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายสวน 15 นาที เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อมดี ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสวนสาธารณะได้ง่ายภายในระยะเวลา 15 นาที หรือห่างจากชุมชนซึ่งสามารถเดินได้ในระยะทาง 800 เมตร เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดทำสวน 15 นาที จำนวน 10 แห่ง ปัจจุบันเขตหลักสี่สามารถจัดทำสวน 15 นาที ได้แล้ว 8 แห่ง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ยืนต้น เพื่อดักจับฝุ่น PM2.5 การใช้ต้นไม้เป็นเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติ และช่วยดูดซึมซับน้ำ กรุงเทพมหานครได้ขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าพัฒนาให้ได้ 500 แห่ง ครอบคลุม 1,500 ตารางเมตร ภายในปี 2569 โดยการพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่การเพิ่มพื้นที่ใหม่ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนสามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวคุณภาพและมีมาตรฐาน ส่วนการเพิ่มพื้นที่ใหม่สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ อาทิ พัฒนาสวนขนาดเล็กในพื้นที่ราชการและเอกชน พื้นที่ว่างด้านข้างอาคารใหญ่ ตลอดจนใช้กลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้กรุงเทพมหานครพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่องดเว้นการเสียภาษี ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 7.86 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก กำหนดว่าเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อคน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคน ภายในปี 2573