Travel Sport & Soft Power

สีสันประชันลีลาสาวไหซองหนุ่มกั๊บแก๊บ ใหญ่ที่สุดในไทยโชว์เดี่ยวเรียกเสียงกรี๊ด!



กาฬสินธุ์-บรรยากาศการประกวดนางไหซอง-หนุ่มกั๊บแก๊บ อีกไฮไลต์ในงานโคกหนองนาปลาร้าอีสาน ที่จ.กาฬสินธุ์ เต็มไปด้วยสีสันและความคึกคัก โดยมีเยาวชน หญิงชาย จากหลายสถานบันการศึกษาหลายแห่ง ส่งทีมเข้าประกวด 20 ทีม ท่ามกลางเสียงเชียร์ให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการแสดงโชว์ ของปรมาจารย์ระดับตำนานนางไหซอง-หนุ่มกั๊บแก๊บ สู่ต้นกล้ารุ่นใหม่ นางไหซอง-หนุ่มกั๊บแก๊บรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของอีสาน

วันที่ 31 ก.ค.67 ที่เวทีกลาง งานโคกหนองนาปล้าอีสาน สนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) ได้มีการประกวดแข่งขันนางไห-กั็บแก๊บ ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมฯหนึ่งในงาน เพื่อเปิดเวทีให้เด็ก เยาวชน ได้แสดงออก และร่วมอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน อัตลักษณ์ของชาวอีสาน ที่เป็นลีลาการแสดงของวงดนตรีโปงลาง โดยมีนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม นายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษานายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ ร่วมชมให้กำลังใจ ทั้งนี้ มี ดร.พรชัย ครองยุติ อาจารย์นาฏศิลป รร.กาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์, ผศ.รัตติยา โกมินทรชาติ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.นฤบดินทร์ สาลีพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏลีลา เป็นกรรมการตัดสิน ท่ามกลางกองเชียร์ส่งเสียงเชียร์ ให้กำลังใจผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 20 ทีม บรรยากาศเต็มไปด้วยสีสัน และคึกคัก เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดประกวดนางไหซอง-หนุ่มกั็บแก๊บครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า นางไหซอง หรือนางไห มีความเชื่อมโยงกับปลาร้าอีสาน ซึ่งเป็นการนำปลาน้ำจืด มาแปรรูปโดยถนอมไว้รับประทานในครัวเรือน ซึ่งชาวอีสานจะใช้ภูมิปัญญาในการหมักปลาน้ำจืด ที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นปลาร้า โดยเก็บไว้ในไหซองหรือไห เป็นภาชนะสำหรับจัดเก็บ เพื่อรักษาสภาพ และถนอมไว้รับประทานนานๆ โดยไม่เน่าเสียหาย และสะอาด ถูกหลักอนามัย ต่อมามีการนำไหซองเปล่า เป็นอุปกรณ์หนึ่ง ในส่วนของการละเล่นดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะในวงโปงลาง ซึ่งจะใช้หญิงสาว เป็นนางรำ โดยร่ายรำด้วยลีลาอ่อนช้อย สวยงาม

นายอุทัยกล่าวอีกว่า ในส่วนกั๊บแก๊บ เป็นการละเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสาน โดยใช้แผ่นไม้เนื้อแข็ง บางๆ ประกบกัน และขยับให้กระทบกันตามจังหวะดนตรี ทำให้เกิดเสียงน่าฟัง จังหวะช้านุ่มนวล จังหวะเร็ว เร้าใจ สร้างความสนุกสาน นิยมใช้ประกอบการแสดงในวงโปงลาง เครื่ืองดนตรีอีสาน และป็นสัญลักษณ์ ของ.จ.กาฬสินธุ์

ทั้งนี้ กติกาการแข่งขันกำหนดทีมละ 3 นาที โดยสาวไหมซองฟ้อนรำด้วยลีลาอ่อนช้อย หนุ่มกั๊บแก๊บถือไม้กั๊บแก๊บข้างละ 2 อัน ขณะร่ายรำทำการแสดง จะใช้มือกำไม้กั๊บแก๊บให้เกิดเสียงดัง เป็นจังหวะ  โดยเน้นฟ้อนรำท่วงท่าลีลาสวยงาม สนุกสนาน ประกอบการแสดงริวิววิถีชาวอีสานด้วย

อย่างไรก็ตามในการประกวดแข่งขันสาวไหซอง-หนุ่มกั๊บแก๊บในครั้งนี้ ซึ่งเปิดการแข่งขันโดยการโชว์เดี่ยวของปรมาจารน์ด้านนาฏศิลป์และนาฏลีลา โดย ผศ.รัตติกา โกมินทรชาติ และ ดร.นฤบดินทร์ สาลีพันธุ์ ปรมาจารย์ระดับคำนาน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดศิลปการแสดงสู่เยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อส่งต่อต้นกล้านางไหซอง-หนุ่มกั๊บแก๊บ ให้คนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ได้ร่วมสืบสานต่อไป

สำหรับผลการประกวดสาวไหซอง-หนุ่มกั๊บแก๊บ ในงานโคกหนองนาปลาร้าอีสาน ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมหมายเลข 17  น.ส.จุฑารัตน์ มูลคำสุข-นายชานนท์ สร้อยมาศ เงินรางวัล 6,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีมหมายเลข  11 น.ส.เจ้าฟ้า ศรีสุพัฒน์-นายพีรันธร ดียิ่ง เงินรางวัล 5,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ได้แก่ ทีมหมายเลข 5  นส.สุภาวดี ดอนพันเมือง-นายเจษฎา ชื่นตา เงินรางวัล 4,000 บาท  ทั้งนี้ ยังมีรางวัลชมเชยให้กับทุกทีมที่ร่วมแข่งขันด้วย