In News
ยันไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ของAALCOสมัยที่6ช่วง8-13ก.ย.นี้
กรุงเทพฯ-วันนี้ (1 สิงหาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) (การประชุมประจำปีของ AALCO) สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า AALCO ตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รวม 48 ประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการของ AALCO ตั้งอยู่ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกามีบทบาทในการประมวลและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันพัฒนาการดังกล่าวให้สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศในเอเชียและแอฟริกา การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกจะอภิปรายแสดงความเห็นและท่าทีในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการในกรอบคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission: ILC) และคณะกรรมการ 6 (กฎหมาย) ของสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย ในฐานะสมาชิกของ AALCO ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการติดตามพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันท่าทีประเทศไทยในประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเพื่อให้พัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในทวีปเอเชียและแอฟริกา
การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นการประชุมที่มีหัวหน้าคณะระดับรัฐมนตรี โดยมีกำหนดจัดการประชุมในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปีก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) โดยในการประชุมประจำปี AALCO สมัยที่ 61 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี ของ AALCO ในสมัยที่ 62 โดย กต. เสนอให้จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567 โดยไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO มาแล้ว 2 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 8 เมื่อปี 2509 และสมัยที่ 26 เมื่อปี 2530
ทั้งนี้ AALCO ครั้งที่ 62 จะมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก ผู้แทนประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากสาขาต่าง ๆ และผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 - 300 คน โดยประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา อาทิ เรื่องกฎหมายทะเล และกฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น