In Thailand
แม่ค้าคลองด่านไม่อยากได้เงินหมื่นดิจิทัล เบื่อมีเงื่อนไขขอเป็นเงินสดต่อทุน
ฉะเชิงเทรา-แม่ค้าสับดิจิทัลวอลเล็ต ทำไมต้องช่วยอย่างมีเงื่อนไข ร้องขอจ่ายเงินสดเพื่อนำเงินมาต่อยอดทำทุนค้าขาย ช่วยประทังชีวิตในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ตลอดจนการใช้หนี้รายวัน ขณะรากหญ้าตัวจริงยังขาดการรับรู้ทำได้เพียงนั่งรอคอยบุตรหลานมาเติมเต็มด้านการใช้จ่ายเงินผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยากเกินกว่าจะเข้าถึง ส่วนใหญ่ตั้งความหวังไว้ที่ร้านธงฟ้ากลางหมู่บ้านเป็นจุดจับจ่ายใช้สอย เชื่อแลกได้แค่เพียงสิ่งของดำรงชีพข้าวสารกะปิน้ำปลา
วันที่ 1 ส.ค.67 เวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงเสียงสะท้อนจากประชาชน หลังจากรัฐบาลได้เปิดให้เริ่มมีการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นวันแรกในวันนี้ จากนางธัญพร อินทรวงษ์ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41 ม.12 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ แม่ค้าขายปลาเค็มแดดเดียวริมถนนสุขุมวิทสายเก่า (สาย 3) พื้นที่ติดแนวตะเข็บรอยต่อระหว่าง ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการว่า
ถึงขณะนี้ไม่อยากได้แล้ว เพราะเป็นเงินที่ไม่ตรงกับเป้าหมายตามที่เราต้องการจะนำไปใช้ เพราะถูกบังคับให้ต้องนำไปใช้จ่ายซื้อแต่ของในห้างหมด แล้วฉันจะทำอย่างไรเพราะฉันซื้อปลามาทำขาย ฉันอยากจะได้เป็นเงินสดออกมาแล้วก็เอามาต่อยอดได้ นำไปซื้อของเอามาขายได้ หากเป็นเงินก้อนยังพอได้นำมาหมุนเวียนพยุงเงินที่จมลงไปกับการลงทุนให้คล่องตัวมากขึ้น เช่น ฉันขายปลาสลิด ฉันก็อยากได้เงินนั้นนำมาซื้อปลาสลิดมาทำปลาเค็มแดดเดียวขาย
แม้แต่คนอื่นๆ ต่างก็ล้วนอยากได้เงินสดเพื่อนำมาซื้อสิ่งของได้จากร้านค้าข้างนอกห้างทั่วไป ไม่ใช่ให้เอาไปซื้อแต่ตามห้างฯ และได้เฉพาะเป็นอย่างๆ แล้วจะไปซื้อมาตุนเอาไว้ทำไม ทั้งข้าวสารอาหารแห้งมาม่า ให้ไปซื้อมาตุนเอาไว้ทำไมไม่มีประโยชน์ เพราะข้าวสารซื้อ 1 ครั้งก็อยู่ได้เป็นเดือนๆ ต่อครอบครัว “มันสะดวกเขา แต่ไม่ได้สะดวกเรา” เงินใครก็อยากได้เพราะเราก็อยากนำเงินมาใช้หนี้บ้าง เพราะรากหญ้าส่วนใหญ่ล้วนเป็นหนี้กันทั้งนั้น เป็นหนี้กันเยอะ เพราะค่าน้ำค่าไฟก็แพงขึ้น ของก็แพงขึ้นทำให้ทุกคนเป็นหนี้กันหมด
แต่เราเอาเงินมาหมุนไม่ได้ จึงไม่อยากได้เงินแบบนี้ จะแบ่งให้ลูกหลานไปซื้อขนมกินก็ยังทำไม่ได้ อีกทั้งโทรศัพท์ของฉันก็ยังเป็นรุ่นเก่าไม่สามารถที่จะโหลดลงแอปพลิเคชันอะไรใหม่ๆ ได้ เพราะเมื่อวานให้บุตรสาวทดลองทำดูแล้ว แต่ทำให้ไม่ได้ และก็ยังไม่มีทุนที่จะไปซื้อโทรศัพท์ใหม่ ยี่ห้อดีๆ ได้ ไหนๆ จะให้แล้วขอเป็นเงินสดเลยดีกว่าไหม ซื้อของแถวนี้แหละไม่ต้องไปตามห้าง เพราะปัจจุบันนี้คนแก่ไม่ได้ขึ้นรถไปไหนเลย อยู่แต่กับบ้านขายแต่ของขายแต่ปลา และการบังคับให้ไปซื้อได้แต่เฉพาะในอำเภอพื้นที่ภูมิลำเนาทะเบียนบ้านนั้น ส่วนตัวไม่ได้เดินทางไปไหน
แต่หากเป็นคนที่อื่น ที่มาทำงานที่นี่แล้วต้องกลับไปซื้อของที่บ้านนั้นก็คงมองว่าไม่สะดวกโดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ หากจะต้องวิ่งกลับไปซื้อของที่บ้าน อันนี้เกิดปัญหาแน่หากต้องวิ่งกลับไปซื้อของถึงทางภาคเหนือหรือที่ไกลๆ หากคิดอยากจะให้ประชาชนอยู่รอดกันจริงๆ ก็ให้เป็นเงินสดมาสิ นี่มันอยู่รอดกันไม่จริงนี่ แค่เอาเงินวอลเล็ตมาให้เราเพื่อเอาไปซื้อของให้พวกนายทุนอยู่รอด ไม่ใช่เรา อยู่รอด เราจะมัวมานั่งกินมาม่าอยู่ทำไม เราก็มีปลากิน ทำไมไม่ให้เราเอาไปซื้อปลา หรือซื้ออย่างอื่นที่สามารถเอามาขายได้ แล้วเอาไปต่อยอด เวลานี้หากินก็ไม่คล่องของก็ขายไม่ดี เพราะคนไม่มีทุนที่จะมาซื้อกิน ยอดขายก็ตกลงไปอย่างมาก นางธัญพร กล่าว
ขณะที่ นางต๋อย ชมภูศรี อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 ม.6 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลกำลังเปิดให้มีการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนว่า ตนเองไม่ค่อยรู้อะไรมากนัก เพราะไม่มีโทรทัศน์ดูเพียงทราบจากทางร้านค้าธงฟ้ากลางหมู่บ้านว่า เขากำลังจะแจกให้เท่านั้น โดยเขาบอกให้ไปเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่หลังจากได้ย้ายมาอยู่ที่นี่แล้ว เพราะบ้านเดิมอยู่ที่ จ.นครนายก หากไม่ไปเปลี่ยนต้องกลับไปใช้เงินที่เขาแจกยังที่บ้านภูมิลำเนาเดิม
ส่วนเรื่องการเปิดให้ลงทะเบียนนั้นยังไม่ทราบ หากได้มาก็คงต้องนำไปใช้ในร้านค้าธงฟ้าในหมู่บ้านนี่แหละ เพราะยังไม่รู้เงื่อนไขเขาเลยว่าจะให้เราเอาไปใช้อะไรได้บ้าง ก็แล้วแต่ตามที่เขาจะกำหนดให้เรา จึงยังไม่รู้ว่าการใช้จะยุ่งยากอย่างไรหรือไม่ ต้องรอให้บุตรชายมาทำให้ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็ยังใช้ไม่เป็น สามีก็เป็นผู้ป่วยติดเตียง ที่ผ่านมาร้านค้าในหมู่บ้านก็คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ เพราะเขาก็อยากให้เราไปซื้อของตามโครงการรัฐบาลที่ร้านของเขา นางต๋อย กล่าว
ส่วนด้าน นายบุญนำ รอดทุกข์ อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 111 ม.6 ต.สองคลอง กล่าวว่า เรื่องรัฐบาลจะแจกเงินวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ตนยังไม่ค่อยรู้อะไรมากและยังไม่รู้ว่าเขาเปิดให้ลงทะเบียนกันแล้วในวันนี้ ต้องรอให้บุตรสาวมาทำให้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ ส่วนเงื่อนไขการใช้นั้น ก็คงต้องเอาไปแลกข้าว น้ำปลา หอมกระเทียม และกับข้าวมากิน จากร้านค้าธงฟ้าในหมู่บ้านที่เขามีให้แลก แต่ยังไม่ทราบว่าเขาจะรับแลกหรือไม่กับโครงการนี้ ส่วนการเอาไปใช้ข้างนอกหมู่บ้านนั้น ตนไม่ค่อยได้ไปไหนมีแต่บุตรสาวที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ต้องคอยอาศัยลูกอย่างเดียวเท่านั้น นายบุญนำ กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา