In Bangkok

บางเขนปั้นสวน15นาทีชมแยกขยะชุมชน เขตดอนเมืองย้ายซากยานยนต์จอดทิ้ง



กรุงเทพฯ-บางเขนปั้นสวน 15 นาที พร้อมขยาย Hawker Center รามอินทรา 2 ชมคัดแยกขยะชุมชนหมู่บ้านรุ่งสว่างวิลเลจ ล้อมรั้วป้องกันลักลอบทิ้งขยะสุขาภิบาล 5 แยก 18 ดอนเมืองย้ายซากยานยนต์จอดทิ้งคืนช่องจราจรถนนเทิดราชัน 

(2 ส.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางเขนและเขตดอนเมือง ประกอบด้วย 

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณซอยรามอินทรา 2 พื้นที่ 1 ไร่  ซึ่งเขตฯ ได้ปรับสภาพพื้นที่ ปลูกต้นไม้ จัดทำทางเดิน การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์จากการใช้ที่ดิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร สำหรับออกกำลังกายหรือนั่งเล่นพักผ่อน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมภายในสำนักงานเขตบางเขน พื้นที่ 2 ไร่ 2.สวนรักษ์ธรรมชาติ พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 3.สวนหย่อมสถานีตำรวจนครบาลบางเขน พื้นที่ 3 งาน 4.สวนหย่อมเสนาวิลล่า 3 พื้นที่ 2 ไร่ 5.สวนหย่อมริมคลองบางบัว 6 ไร่ พื้นที่ 2 งาน 6.สวนหย่อมพุทธอุทยาน พื้นที่ 40 ไร่ 7.สวนหย่อมริมคลองบึงพระยาสุเรนท์ พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าพุทธวิชชาลัย พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 2.สวนหย่อมถนนเทพรักษ์ หน้าหมู่บ้านศุภาลัย เอแลแกรนซ์ พื้นที่ 3 งาน 3.สวนหย่อมปากซอยพหลโยธิน 55/1 หน้าบริษัท มายัง จำกัด พื้นที่ 3 ไร่ 4.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านหลุยส์แกรนด์เพลส ปากซอยเทพรักษ์ 50 พื้นที่ 100 ตารางเมตร นอกจากนี้ เขตฯ จะจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติม บริเวณสวนหน้าโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ พื้นที่ 25 ตารางเมตร อยู่ระหว่างประสานขอใช้พื้นที่และออกแบบสวน 

สำรวจพื้นที่ Hawker Center ซอยรามอินทรา 2 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 06.00-16.00 น. ที่ผ่านมาเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่บริเวณด้านหลังสำนักงานเขตบางเขน ติดกับ Hawker Center เดิม ซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างมีซากอาคารไม้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยประสานเจ้าของที่ดินเพื่อขอใช้พื้นที่จัดทำ Hawker Center เพื่อให้สามารถรองรับผู้ค้าได้มากขึ้น และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติม ซึ่งการจัดทำ Hawker Center เป็นไปตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 68 ราย ได้แก่ 1.ซอยรามอินทรา 14 แยก 3-5 ผู้ค้า 39 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 2.สวนรักษ์ธรรมชาติ วงเวียนบางเขน ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณใต้ทางด่วนถนนเทพรักษ์ ผู้ค้า 11 ราย โดยผู้ค้าได้ย้ายเข้าไปทำการค้าในพื้นที่เอกชนทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.หน้าวัดไตรรัตนาราม ซอยรามอินทรา 8 รองรับผู้ค้าได้ 65 ราย ช่วงเวลาทำการค้า วันจันทร์-วันอาทิตย์ เวลา 05.00-19.00 น. 2.ด้านหลังสำนักงานเขตบางเขน ซอยรามอินทรา 2 รองรับผู้ค้าได้ 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 06.00-16.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าในการสัญจรได้สะดวกและปลอดภัย 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหมู่บ้านรุ่งสว่างวิลเลจ ซอยรามอินทรา 8 พื้นที่ 44 ไร่ ประชากร 907 คน บ้านเรือน 306 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีการคัดแยกขยะเศษอาหาร ติดตั้งถังดักไขมันตามบ้านเรือน มีถังหมักปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล รับซื้อขยะจากสมาชิกในชุมชนบริเวณที่ทำการชุมชน มีจุดรับบริจาคขยะ เช่น ขวดพลาสติก แก้ว อลูมิเนียม 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปในชุมชน นำไปไว้ที่จุดพักขยะ เขตฯ จัดเก็บ 2 ครั้ง/สัปดาห์ 4.ขยะอันตราย มีจุดทิ้งขยะอันตรายบริเวณที่ทำการชุมชน เขตฯ จัดเก็บทุกเดือนหรือตามที่ชุมชนแจ้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 640 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการชุมชนในการคัดแยกประเภทต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ 

ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยสุขาภิบาล 5 แยก 18 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บขยะมูลฝอย เพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้หญ้า พร้อมทั้งตรวจสอบหาเจ้าของที่ดินดังกล่าว โดยให้ดำเนินการล้อมรั้วให้มิดชิด เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ ติดตั้งป้ายห้ามทิ้งขยะมูลฝอย จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่ กวดขันดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดลักลอบทิ้งขยะ 

จากนั้น เวลา 15.00 น. ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณซอยเทิดราชัน 15 เขตดอนเมือง ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประกอบกับได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บริเวณซอยเทิดราชัน 15 จำนวน 2 คัน และบริเวณซอยประชาอุทิศ 13 จำนวน 2 คัน โดยได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบทางด้านคดี และตรวจสอบทะเบียนรถในระบบกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน โดยมีเจ้าของมาเคลื่อนย้ายไปแล้ว 1 คัน จากการตรวจสอบอีก 3 คันที่เหลืออยู่ ไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย จึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ ซึ่งให้การสนับสนุนรถบรรทุกแบบชานเลื่อน (รถชานสไลด์) ดำเนินการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ จำนวน 3 คัน เพื่อนำไปเก็บไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม กำหนดจัดเก็บซากยานยนต์เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2567 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,434 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย 1,201 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 233 คัน เปรียบเทียบปรับ 45 คัน และขายทอดตลาด 44 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค.67) 

ในการนี้มี นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางเขน เขตดอนเมือง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล