In News

ทล.เร่งขยายถนน304เขาหินซ้อน-กบินทร์ จาก4เลนเป็น6เลนรับการขนส่งในอีอีซี



กรุงเทพฯ-ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะของกระทรวงคมนาคมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ประเด็นแผนพัฒนาทางหลวงหมายเลข 304 เขาหินซ้อน - กบินทร์บุรี ของนายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี

ดร.มนพร กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 304 มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นทางสายหลักเชื่อมพื้นที่สำคัญหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 2 ที่จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางรวมประมาณ 300 กิโลเมตร (กม.)

ปัจจุบันประชาชนนิยมใช้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งสินค้า เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไปสู่ประตูการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้ปริมาณจราจรมีความหนาแน่นโดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้เส้นทางสัญจรจำนวนมาก โดยในปี 2567 กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย สำหรับดำเนินงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจและออกแบบเพื่อแก้ปัญหาจราจร เป็นการดำเนินงานเพื่อขยายทางหลวงหมายเลข 304 จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร จำนวน 2 ช่วง ช่วงที่ 1 บ้านเขาหินซ้อน - บ้านลาดตะเคียน และช่วงที่ 2 บ้านลาดตะเคียน - สี่แยกกบินทร์บุรี รวมทั้งการปรับปรุงจุดตัดทางแยกเป็นสะพานข้ามแยก รวมระยะทางประมาณ 36 กม.

พร้อมการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีมีนิคมอุตสาหกรรม มีเขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมหลายแห่ง ล้วนแต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทางหลวงสายดังกล่าวเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างภูมิภาค กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดให้ ทล. กำหนดแผนการดำเนินงานของทั้ง 2 ช่วงไว้ให้ชัดเจนแล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ช่วงที่ 1 จากบ้านเขาหินซ้อน - บ้านลาดตะเคียน ได้เริ่มออกแบบรายละเอียดกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2568 เริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2569 (โดยจะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2570) และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2573

และช่วงที่ 2 จากบ้านลาดตะเคียน - สี่แยกกบินทร์บุรี ได้เริ่มออกแบบรายละเอียดพร้อมกันกับช่วงที่ 1 และดำเนินการเรื่อง EIA คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2570 (เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2571) กำหนดเปิดให้บริการได้ในปี 2574

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมพยายามจัดลำดับความสำคัญของโครงการ แต่ด้วยงบประมาณที่ ทล. ได้รับจัดสรรในแต่ละปีมีจำนวนจำกัด ประกอบกับความต้องการในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศมีเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องพิจารณาการกระจายงบประมาณไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างเหมาะสมและทั่วถึง เพื่อแบ่งเบาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ และในการก่อสร้างแต่ละสายทางมีกระบวนการเริ่มตั้งแต่สำรวจออกแบบ จัดทำ EIA หาตัวผู้รับจ้าง กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นความโปร่งใสในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนยึดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์กับประชาชนหลายมิติ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ดร.มนพร ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของจังหวัดปราจีนบุรีอีกว่า มีความสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการพัฒนา รวมทั้งการกำหนดแผนงานโครงการของกระทรวงคมนาคม จังหวัดปราจีนบุรีไม่เคยถูกละเลย แต่เป็นจังหวัดที่ได้รับความสำคัญสูงมากเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันมีจำนวนประชากรตามทะเบียนบ้านโดยประมาณ 500,000 คน มีผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 3 ท่าน และจากข้อมูลตัวเลขงบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 มีจำนวนรวมประมาณ 6,622 ล้านบาท

โดยในปี 2567 ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 33 สายอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก - อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี วงเงินงบประมาณ 650 ล้านบาท และก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3070 สายอำเภอศรีมโหสถ - อำเภอศรีมหาโพธิ ตอน หัวหว้า - หนองโพรง พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร และในปีงบประมาณ 2568 ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 1,015 ล้านบาท โดยมีเส้นทางสำคัญ เช่น การก่อสร้างขยายถนนทางหลวงหมายเลข 3079 สายอำเภอศรีมหาโพธิ - พญาจ่าย จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวกปลอดภัยมากขึ้น

“กระทรวงคมนาคมมีแผนการพัฒนาระบบคมนาคมในทุกจังหวัดของไทย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น ประชาชนคนไทยมีรายได้มากขึ้น และประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น” ดร.มนพร กล่าว