In News
นายกฯถกการบริหารจัดการน้ำชูแผน3ปี พร้อมตอบคำถามสื่อในหลายประเด็น
นายกฯ ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำเน้นให้บริหารและแก้ไขปัญหาน้ำอย่างรวดเร็ว เร่งรัดร่างแผนฯ 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เสนอ ครม.ภายในเดือนสิงหาคม นี้ และได้คิกออฟประชุมบริหารจัดการน้ำ มอบ สทนช.นำเสนอแผนงาน 3 ปีด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ 5 ด้าน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างครอบคลุม คาดว่าสิ้นเดือนนี้ แผนจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ก่อนแถลงข่าวใหญ่ และนายกฯยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ยันพร้อมพิจารณาปรับ ครม. ถ้าพรรค รทสช.เสนอ ชื่อมา เผยยังไม่เห็นหนังสือเสนอชื่อ นอกจากนี้ยัง มั่นใจ ก.เกษตรฯ คุมปลาหมอคางดำได้ หลังหลายฝ่ายกังวล อาจแพร่กระจายไปพื้นที่อื่น
วันนี้ (5 สิงหาคม 2567) เวลา 09.20 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำโดยปริมาณน้ำฝนสะสมช่วงฤดูฝนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม - 1 สิงหาคม 2567 มีปริมาณฝน 563.2 มม. สูงกว่าค่าปกติ 74.8 มม. คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนปริมาณฝนคาดการณ์และปริมาณน้ำ ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง มีความจุรวม 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำ 40,163 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 รับน้ำได้อีก 30,763 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43
สำหรับการคาดการณ์น้ำ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะมีน้ำกับเก็บ จำนวน 54,930 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77 ทั้งนี้ เมื่อเทียบปี 2566 มีน้ำกักเก็บอยู่ที่จำนวน 56,386 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79 โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำปี 2567 จะน้อยกว่าปี 2566 จำนวน 1,456 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายกรัฐมนตรีกล่าวปัญหาเรื่องน้ำว่า เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องน้ำ บูรณาการการทำงานอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนงานและโครงการที่สำคัญ และสามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ตลอดจนพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรี ยังเน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิม ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงที่สุด พร้อมทั้งพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ มอบหมายให้กรมชลประทานและ GISTDA นำเสนอพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากการรับฟังการนำเสนอเรื่องการบริหารจัดการน้ำจากเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เลขาธิการ สทนช. อธิบดีกรมชลประทาน และ ผอ.GISTDA ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทย ตลอดจนแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยมอบนโยบายประเด็นแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ ดังนี้
1.ให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ในการนี้ ให้ สทนช. รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
2.ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้
และ 3.ให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
นายกรัฐมนตรี ยังฝากให้กรมชลประทานติดตามรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เฝ้าดูพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเร่งดำเนินการการขุดลอกแม่น้ำสุไหง โก - ลก ไม่ให้ตื้นเขิน ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาดำเนินการ โดยมีคณะกรรมการร่วมไทย - มาเลเซียร่วมด้วย เนื่องจาดเพราะประเทศมาเลเซียและฝั่งไทยได้รับความเดือดร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส
“ในบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ชัดเจน และขอเน้นย้ำให้บริหารสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึง และทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกฯ คิกออฟประชุมบริหารจัดการน้ำมอบสทนช.นำเสนอแผนงาน 3 ปี
ช่วงเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา กล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการน้ำว่า น้ำถือเป็นปัญหาเร่งด่วนในประเทศไทย จึงต้องเร่งบริหารจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ และน้ำอุปโภคบริโภค ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่ดูแลด้านน้ำของภาครัฐ ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนด้านน้ำระยะ 3 ปี พร้อมแผนงานระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาด เป็นการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำ การปรับปรุงโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนการก่อสร้างโครงข่ายบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงาน 3 ปีด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค การปรับปรุงและพัฒนาระบบกระจายน้ำ การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วม และป้องกันพื้นที่ชุมชน
นายกฯ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำและการจัดหาน้ำ เพื่อให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำให้กับประชาชน โดยสั่งการให้ สนทช.เร่งทำแผนงานแก้ปัญหาด้านน้ำ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานบริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการน้ำไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สถาบัน Gistda ประเมินภาพถ่ายที่น้ำท่วมซ้ำซาก ประสานงานกับกรมชลประทาน และมอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนทช.เฝ้าติดตามสถานการณ์บริหารจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สนทช.เสนอแผนการบริหารจัดการน้ำภายในสิ้นเดือนสิงหาคม วันนี้ถือเป็นวันคิกออฟ และสิ้นเดือนสิงหาคมนี้จะมีการแถลงข่าวใหญ่ให้ทราบ ส่วนพื้นที่ที่น่ากังวลคือภาคตะวันออกที่ยังประสบปัญหาด้านน้ำ เช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจุด จึงสั่งการให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยการปรับแผนตลอดเวลา ควบคู่กับการรายงานข้อมูลของ Gistda พร้อมย้ำว่า น้ำมีความสำคัญต่อเกษตรกรไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหารสูง การที่มีสถานการณ์ทางการเมืองของโลกที่ระอุอยู่และมีการแย่งชิงเรื่องอาหาร จะทำให้ไทยมีจุดเด่นด้านนี้มาก ซึ่งน้ำในประเทศไทยจะถูกใช้ไปในระบบนิเวศน์ อุปโภคบริโภค การเกษตร และการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จำเป็นต้องใช้น้ำมาก เมื่อมีการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในไทยแล้ว น้ำจะต้องไม่ขาดแคลน เรื่องนี้รัฐบาลได้บูรณาการอย่างครบถ้วน หากประเทศไทยบริหารจัดการน้ำได้ดี จะเดินไปข้างหน้าได้ ตนเองมั่นใจในแผนงานของ สทนช.และสภาพัฒน์ฯ ที่ได้ทำมาจะสามารถแก้ไขปัญหาและป้องกันได้ ดังนั้น การประชุมในวันนี้ถือเป็นการคิกออฟการแก้ไขปัญหาน้ำ ซึ่งตนเองมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
นายกฯพร้อมพิจารณาปรับครม.ถ้าพรรค รทสช.เสนอชื่อมา
นายกรัฐมนตรี กล่าถึงกระแสข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสนอชื่อปรับ ครม.ในโควตาของพรรคที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่งว่า ตนเองได้อ่านจากหนังสือพิมพ์เมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ แต่เรื่องยังไม่ถึงมือของตน ซึ่งเรื่องนี้ ตอนนี้ในเดือนสิงหาคม คิดว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบตุลาการเยอะไปหมด จริง ๆ แล้วต้องให้เกียรติตรงนั้นก่อนดีกว่า ให้หลายเรื่องมันจบไปก่อนดีกว่ามั้ง แต่แน่นอนถ้าเกิดพรรคร่วมรัฐบาลเสนอมาเราก็ต้องพิจารณา แต่ว่าคงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เพราะยังมีเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องให้เกียรติตรงนั้นก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นจะส่งผลกับสถานการณ์อะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ต้องมีการเตรียมความพร้อมดูแลเรื่องความสงบและความปลอดภัยด้วยหรือไม่ในช่วงดังกล่าว นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงดูแลดีอยู่แล้ว
นายกฯ มั่นใจ ก.เกษตรฯ คุมปลาหมอคางดำได้
นายกรัฐมนตรี กล่าถึงการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำหากเกิดน้ำท่วมและน้ำหลากไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเสนอมาตรการไป เรียบร้อยแล้วทั้งระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว และเชื่อว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเรื่องน้ำ หรือปลาหมอคางดำ ได้มีการพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่แก้อย่างหนึ่งแล้วเกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง มั่นใจว่ากระทรวงเกษตรฯ ดูแลดีอยู่แล้ว และมั่นใจว่า เรื่องปลาหมอคางดำจะบริหารจัดการได้