Biz news
SJIยกพลชวนปลูกป่ามุ่งสู่เป้าNet Zero ร่วมกับอช.ปลูกต้นไม้1.22ต้น614ไร่
กรุงเทพฯ-บริษัท เอสแอนด์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ S&J ผู้ผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เพื่อความงามครบวงจรด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยมานานกว่า 35 ปี ตอบโจทย์แบรนด์ดังๆ ทั้งแบรนด์ในประเทศและแบรนด์ต่างประเทศ ด้วยความใส่ใจ มุ่งมั่น และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ตลอดสายห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสินค้า/บริการใหม่ๆ การปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำโครงการปลูกฟื้นฟูป่า เพื่อรักษาระบบนิเวศและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ด้วยการจัดปลูกต้นไม้ในโครงการ “ปลูกฟื้นฟูป่า เนื่องในวโรกาสวันแม่แห่งชาติ”
นายธีระศักดิ์ วิกิตเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสแอนด์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้บริหารและพนักงานกว่า 100 คน ร่วมกันปลูกกล้าไม้จำนวน 122,800 ต้น บนพื้นที่ 614 ไร่ ณ อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ในโครงการ “ปลูกฟื้นฟูป่า เนื่องในวโรกาสวันแม่แห่งชาติ” โดยมีนายไพบูลย์ รัตนะเจริญธรรม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งนายยศพงษ์ ทรงศิลป์ นายอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำตัวแทนข้าราชการ ผู้นำชุมชน คณะครู นักเรียน และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่รวมกว่า130 คน ร่วมกิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้ด้วย
กิจกรรมปลูกป่าในโครงการ “ปลูกฟื้นฟูป่า เนื่องในวโรกาสวันแม่แห่งชาติ” เกิดขึ้นจากสำนึกและเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของบริษัทฯ ที่จะส่งเสริมการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ด้วยการนำพันธุ์ไม้เบญจพรรณ เช่น ยางนา ประดู่ป่า พยุง แดง และตะแบก เป็นกล้าไม้หลักในการปลูกป่า อีกทั้งยังใช้แนวคิดการจัดกิจกรรมในรูปแบบ Low Carbon Event ด้วยการเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และเพื่อให้โครงการปลูกป่าเป็นไปอย่างยั่งยืน สามารถทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องตามหลักสากล บริษัทฯ จึงได้นำแปลงที่ปลูกทำการขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของ T-VER ที่ต้องการยกระดับการปลูกฟื้นฟูป่าให้มีมาตรฐานเป็นไปตามหลักวิชาการ ควบคู่กับการบำรุงรักษาป่าที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างประโยชน์กลับคืนให้กับชุมชนและสังคมในวงกว้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม