In News
นายกฯสั่งเร่งจัดการสารเคมีรั่วไหล7พื้นที่ ชงคกก.สิ่งแวดล้อมฯยกระดับพื้นที่ควบคุม
กรุงเทพฯ-นายกฯ สั่งการเร่งวางแนวทางจัดการปัญหาสารเคมีรั่วไหล 7 พื้นที่ เน้นย้ำกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเป็นระบบและรูปธรรม ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำพร้อมเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยกระดับพื้นที่เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและเยียวยาพี่น้องประชาชน
วันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ซึ่งเห็นชอบตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหล และกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการร่วมกันวางแนวทางการจัดการปัญหาสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณายกระดับพื้นที่เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูพื้นที่และเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันวางแนวทางการจัดการปัญหาสารเคมีรั่วไหล จำนวน 7 พื้นที่ ในจังหวัดระยอง พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม โดยหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น การเยียวยาช่วยเหลือ การป้องกันปริมาณน้ำฝนไม่ให้ชะล้างสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมไหลปนเปื้อนออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง การบำบัดกำจัดของเสียและกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง รวมถึงการฟื้นฟูดิน น้ำใต้ดินและสภาพแวดล้อมโดยรอบ พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาโดยการยกระดับเสนอให้พื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียและกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูพื้นที่และเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ยังร่วมกันจัดโครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ” รวมพลัง ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเยียวยา บรรเทาปัญหาและความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ในเบื้องต้น เช่น การมอบถุงยังชีพและหน้ากากอนามัย การจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพ การกำจัดบำบัดของเสีย การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรม รวมถึงการสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด
“นายกรัฐมนตรีเห็นถึงความสำคัญและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ขับเคลื่อนความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมืออย่างเต็มกำลังสู่การลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสารเคมีรั่วไหล พร้อมเน้นย้ำถึงการกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันที่เคร่งครัด ชัดเจน เป็นระบบ และครอบคลุมทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและสังคมโดยรวม” นายชัย กล่าว