In Thailand
CIBนำจิตอาสาพัฒนาปลูกป่า-ปล่อยปลา เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันแม่แห่งชาติ
มหาสารคาม-กองบัญชาตำรวจสอบสวนกลาง นำจิตอาสาพัฒนาปลูกป่าถาวรและปล่อยพันธุ์ปลา เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วันนี้ (8 ส.ค.67) เวลา 09.30 น. ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม พลตำรวจตรีวัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เป็นประธานเปิดโครงการ “จิตอาสาปลูกป่าถาวรและปล่อยพันธุ์ปลา เฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2567 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในเดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย
โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สถานีตำรวจภูธรเมืองมหาสารคาม องค์การบริหารส่วนตำบลเขวา ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ภาคีเครือข่ายนวัตกรรมสังคม สภาทนายความ สมาคมออฟโรดช่วยเหลือเพื่อนร่วมทาง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จิตอาสา 904 จิตอาสาในพื้นที่ คณะครู นักศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม และนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เข้าร่วมกิจกรรม
พลตำรวจตรีวัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เปิดเผยว่า กองบัญชาตำรวจสอบสวนกลาง ได้มอบหมายให้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือชุมชนโดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคน มีจิตสาธารณะ และมีส่วนร่วมตามแนวคิดจิตอาสาพระราชทาน อันเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เนื่องด้วยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม เป็นศูนย์กลางสถาบันการศึกษา ที่สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้กับนักเรียนนักศึกษาในชุมชน เป็นศูนย์กลางของประชาชนในชุมชน ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่า ในบริเวณพื้นที่ของ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามได้ จึงเป็นสถานที่อันเหมาะสม ในการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาในครั้งนี้ อีกทั้งเพื่อเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนในชุมชน มีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่น ยอมสละเวลา แรงกาย แรงใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้กับนักเรียนนักศึกษาในชุมชน
โดยเฉพาะภาคปฏิบัติทางวิชาชีพ มีการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษา เรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เมื่อสำเร็จการศึกษา เช่น การเพาะเลี้ยงปลา การปลูกพืช ผัก ปลอดสารพิษตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับป่า จึงได้ประสานความร่วมมือกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในท้องถิ่น จัดหาพันธุ์ปลา พันธุ์กล้าไม้ ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา ปลูกป่า ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญ ในการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา ในการสร้างพื้นที่ป่าให้กับชุมชน พร้อมทั้งปลูกฝังให้ทุกคนมีจิตสาธารณะ ตามแนวคิดจิตอาสาพระราชทาน
พิเชษฐ ยากรี - มหาสารคาม