Think In Truth
มหากาพย์'กัญชา'มหาภัยหรือยาวิเศษ ชาวโลก(ตอนที่ 3) โดย : ฅนข่าว2499
ข้อมูลจากสมุนไพรเพื่อสุขภาพของมติชนสุดสัปดาห์ระบุว่า แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เป็นตำราแพทย์แผนไทยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นตำราแพทย์ฉบับหลวงที่เกิดจากพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทั้งนี้ โดยพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ตำแหน่งจางวางแพทย์ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอมฤตย์ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 เป็นประธานในการชำระความถูกต้องและสงเคราะห์พระคัมภีร์แพทย์แผนไทยทั้งมวลขึ้นเป็น “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง”ในปี 2413 อันเป็นปีที่ 3 ที่ทรงครองราชย์ซึ่งแสดงว่าทรงให้ความสำคัญกับปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน ไม่น้อยไปกว่าปัญหาความมั่นคงของประเทศด้านอื่นๆ
“กัญชา” เป็นพืชสมุนไพรตัวหนึ่งใน “พระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด” ที่ระบุสรรพคุณของ “กัญชา” ไว้ว่า “กัญชา แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่น เสียงสั่น เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ”
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระคัมภีร์ทุกคัมภีร์ ตำรับยาทุกตำรับในตำรา “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”จึงเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้
ทั้งนี้ ไม่มีข้อความใดใน “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” ที่ระบุว่า “กัญชา” เป็นสมุนไพรมีพิษหรือมีโทษร้ายแรงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมี “กัญชา” ปรากฏอยู่ในตำรับยาอย่างน้อย 10 ตำรับ อาทิ เช่น
พระคัมภีร์ปฐมจินดา
ซึ่งเป็นตำรากุมารเวชศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย มียาเข้ากัญชา 1 ตำรับ คือ ยาไฟอาวุธ ซึ่งใช้รักษาโรคตานทรางอย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นกับลูกของอีเย็นนางทาส ซึ่งมีอาการเป็นไข้หละละอองลิ้นขาว เป็นตุ่มเม็ดในปากคอและตามร่างกายของทารกและเด็กเล็ก แก้โรคไอผอมเหลือง หืดหอบ โรคพุงโรก้นปอด แก้ไข้อุจจาระเป็นโลหิตจุกเสียดแน่นท้อง ปรุงเป็นยาผงทำเป็นเม็ดเท่าเม็ดพริกไทยละลายกับน้ำมะนาวเป็นกระสายยา
พระคัมภีร์มหาโชตรัต
ซึ่งเป็นตำรานรีเวชศาสตร์ของการแพทย์แผนไทยมียาเข้ากัญชา 3 ตำรับ คือ
1) ยาแก้ลมอุทธังคมาวาตะ คือ ลมตีขึ้นบนในสตรี เกิดลมจับหัวใจให้ชักมือกำเท้ากำ ลิ้นกระด้างคางแข็ง ลมตีขึ้นปะทะอกหายใจไม่ออก ราวจะสิ้นใจ เป็นยาผงละลายน้ำผึ้งกิน
2) ยาแก้ริดสีดวงมหากาฬ 4 จำพวก เป็นยารักษาฝีหนองที่ขึ้นในลำคอ ในทวารหนัก ในทวารเบา และในลำไส้ตลอดถึงหลอดอาหาร รวมทั้งก้อนฝีหนองในอก คุดทะราด ฝีเปื่อยทั้งตัว และกามโรค ยาขนานนี้นอกจากเข้ากัญชาแล้วยังผสมฝิ่นเล็กน้อย บดผงปั้นเท่าเม็ดพริกไทย ละลายสุรากิน 1-3 เม็ด
3) ยาแก้อาการบิดมวนท้องและท้องเสียในสตรี
พระคัมภีร์ชวดาร
เป็นตำราว่าด้วยโรคลมและโรคเลือดของทั้งสตรีและบุรุษ มียา 1 ตำรับ คือ ยาแก้โรคสำหรับบุรุษและสตรี ใช้รักษากามโรค ปัสสาวะเป็นโลหิต จับไข้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ท้องแข็งเป็นดาน ปวดเมื่อยขบไปทั้งตัว มือเท้าตายเป็นเหน็บ เป็นยาบดผงละลายกับน้ำผึ้ง กินครั้งละ 3.8 กรัม
พระคัมภีร์กษัย
เป็นตำราว่าด้วยความเสื่อมของร่างกายทำให้ผอมแห้งแรงน้อย สุขภาพทรุดโทรม ในพระคัมภีร์นี้มียาเข้ากัญชาถึง 5 ตำรับ คือ 1) ยาแก้กษัยเหล็ก 2) ยาแก้กษัยกล่อน 3) ยาแก้กษัยเสียด 4) ยาพรหมภักตร์ 5) ยาอัมฤตย์โอสถ
ยกตัวอย่างยาแก้กษัยเหล็ก ซึ่งกระทำให้ปวดหัวเหน่า ท้องน้อยแข็งเหมือนหินแล้วเป็นก้อนลามไปถึงหน้าอก ทำให้ขยับไหวตัวไปมาไม่ได้ เบื่ออาหาร ปวดท้องมากจนแทบจะขาดใจ ยาขนานนี้หมอโบราณท่านให้เอาใบและดอกกัญชาสดตำแหลกคั้นเอาน้ำ 1 ทะนาน หุงกับน้ำมันงา 1 ทะนาน จนน้ำระเหยออกไปหมดคงเหลือแต่น้ำมัน ใช้สำหรับทารีดท้องให้อ่อนตัวลงเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงกินน้ำมันต่ออีก 3 วัน ท่านว่าวิเศษนัก
ส่วนตำรับยาอัมฤตย์โอสถ เป็นยาตำราหลวงที่ใช้เป็นประจำสำหรับแก้ลมกษัยทั้งปวง ยาขนานนี้มีกัญชาประกอบอยู่ถึง 10 ส่วน
ในที่นี้ขอแนะนำตำรับยาที่ใช้แก้ไข้ผอมแห้งแรงน้อย ช่วยให้กินข้าวได้ นอนหลับสนิทและแก้อาการตัวสั่น ซึ่งประกอบด้วยตัวยาดังนี้ …
…ตรีกฏุก (ขิงแห้ง ดีปลี และพริกไทย) จันทน์ทั้ง 2 (จันทน์แดง จันทน์ขาว) ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกไทยล่อน อย่างละเท่าๆ กัน และใช้ใบกัญชาน้ำหนักเท่ากับตัวยาทั้งหลายรวมกันทั้งหมดบดผงปั้นเท่าเม็ดพริกไทย ใช้ครั้งละ 1 เม็ด ละลายน้ำมะพร้าวกินหายแล
จากการสำรวจการใช้ “กัญชา” ในตำราการแพทย์แผนไทยของหลวงซึ่งได้ผ่านการชำระรับรองความถูกต้องมาแล้วที่สำคัญเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคมายาวนานแล้วจึงสมควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้นักวิจัยทางแพทย์เภสัชทำการวิจัยเรื่องกัญชาในตำรับยาไทย เพื่อไม่ให้ตกกระแสเพราะเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปีมาแล้ว
กัญชากับตำรายาไทยโบราณ
ในจารึกวัดโพธิ์พบว่ายาไทยผสมกัญชา มีทั้งหมด 9 ตำรับ ดังต่อไปนี้
1.ยาอินทร์ประสิทธิ์ แก้ลมบำรุงหัวใจ
2.ยาแผ้วฟ้า แก้ละอองไอในปากและคอ
3.ยากำลังราชสีห์ บำรุงโลหิต
4.ยาประสะน้ำมะนาว แก้หอบหืด แก้ไอ
5.ยาฆ้องไชย แก้เสียงแหบแห้ง เสมหะเหนียว
6.ยาประคบแก้ปวดเมื่อย คลายเส้น ฟกบวมเคล็ดขัดยอก
7.ยาพรหมพักตร์ ขับเลือดเสีย
8.ยาสนั่นไตรภพ แก้กษัยขับลม
9.ยาหทัยวาตาธิคุณ แก้โรคลม
สำหรับสูตรตำรับสนั่นไตรภพ ในอดีตทางการแพทย์แผนไทยมีการนำกัญชามาผสมเพื่อใช้ในการบำบัดโรคได้ (อ่านรายละเอียดในบทต่อไปในเล่ม)โดย
เบื้องต้นมี4 ตำรับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ และตำรับทัพยาธิคุณ เพื่อใช้ทางการแพทย์ เพื่อทำการศึกษาและดูผลจากการรักษาที่สำคัญคือวิธีการควบคุมกัญชาเพื่อใช้เป็นยาจะต้องทำอย่างวงจำกัดด้วย ซึ่งในทางการแพทย์แผนปัจจุบันยอมรับแล้วว่ากัญชาใช้ทางการแพทย์ หลักๆ คือการเกร็งของกล้ามเนื้อ การชักต่างๆ กลุ่มแก้ปวด ของกลุ่มมะเร็งต่างๆ
ภาพการปลูกกัญชาที่สกลนคร
อนุญาต 16 ตำรับยาไทยเข้ากัญชา
ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่จะสามารถปรุงและสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย โดยหมอพื้นบ้านต้องมีคุณสมบัติ
- เป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย
- ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ของสธ. หรือหลักสูตรที่ สธ. หรือสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยรับรอง
- ในการปรุงหรือสั่งจ่ายยาต้องดำเนินการภายใต้สถานพยาบาลรัฐ
ส่วนหมอพื้นบ้านต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเช่นเดียวกัน และใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะภายในเขตพื้นที่ชุมชนท้องที่ที่ได้รับการรับรองหรือมีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่ที่ได้รับการรับรอง
นอกจากนี้ร่างประกาศ สธ. เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ กำหนดว่าตำรับที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัย ในส่วนของแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย ตำรับที่หมอพื้นบ้านปรุงขึ้นจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากรมการแพทย์แผนไทย
ทั้งนี้วัตถุดิบจากกัญชาต้องไม่สามารถแยกเป็นช่อดอก ใบเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ และตำรับยาแผนไทยที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำเบื้องต้นมี 16 ตำรับได้แก่
1.ยาอัคคีนีวคณะ 2.ยาศุขไสยาศน์ 3.ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย4.ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ5.ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง6.ยาไฟอาวุธ 7.ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง 8.ยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง 9.ยาอัมฤตโอสถ 10.ยาอภัยสาลี 11.ยาแก้ลมแก้เส้น12.ยาแก้โรคจิต 13.ยาไพสาลี 14.ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง 15.ยาทำลายกระสุเมรุ และ 16.ยาทัพยาธิคุณ
โดยตำรับทั้งหมดมีที่มาจากคัมภีร์ธาตุพระนารายน์ ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แพทย์ศาสตร์ส่งเคราะห์ เล่ม 1-2 พระยาพิศณุประสาทเวช เวชศึกษาพระยาพิศณุประสาทเวช เวชศาสตร์วัณ์ณณา อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2 และคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์
จัย 4 ตำรับยาแผนไทยกัญชาเทียบเคียงความรู้ ทำสูตรยาได้มาตรฐาน
ถึงแม้ว่า “กัญชา” ในบ้านเรามักจะถูกกล่าวถึงในด้านลบมากกว่าด้านบวก อีกทั้งยังถูกกฎหมายประทับรอยบาปว่าเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ แต่ในทางกลับกันในหลายประเทศเริ่มศึกษาวิจัยประโยชน์ของกัญชาที่มีต่อวงการแพทย์ ส่วนประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีการวิจัยอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้
สรรพคุณของ “กัญชา” ที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์แพทย์ไทย พบว่า มีการจารึกไว้ในคัมภีร์โอสถพระนารายณ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มี4 ตำรับด้วยกัน แต่ถ้านับรวมตำรับยาอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชาด้วยนั้น เท่าที่รวบรวมมาได้นั้นมีเป็น 100 ตำรับยา เช่นเดียวกับจารึกตำรับยาที่วัดโพธิ์
ส่วนเรื่องการวิจัยหากจะวิจัยทั้งหมดเลยมันจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและกำลังบุคลากรก็มีไม่เพียงพอในการวิจัยในครั้งนี้จึงเลือกขึ้นมาวิจัยด้วยกันทั้งหมด 8 ตำรับ ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยใน 4 ตำรับยาใน 4 กลุ่มอาการ โดยได้มีการเปรียบเทียบอาการที่จารึกไว้กับอาการกลุ่มโรคในปัจจุบันกับอาจารย์ผู้รู้ ได้แก่
1.สุขไสยาสน์ เป็นตำหรับยาช่วยให้ผ่อนคลายนอนหลับ แก้ปวด สุขไสยาสน์ แปลว่า นอนหลับอย่างมีความสุข ไสยาสน์ในทางพระ แปลว่า พระนอน ใช้ในการดูแลการนอนหลับ คลายเครียด แก้ปวด
2.ทำลายเขาพระสุเมรุ ส่วนประกอบสมุนไพรมากกว่า 20 ชนิด และมีกัญชาเป็นส่วนประกอบสำคัญ สรรพคุณภาษาไทยโบราณแก้อาการลมชัก ปากเบี้ยว ตาแหก เทียบกับอาการ คือ อาการอัมพาต อัมพฤกษ์ เวลาคนมีเส้นเลือดในสมองแตกจะมาร่างกายซีกใดซีกหนึ่งจะเกร็งหรือชักกระตุก หรืออาการปากเบี้ยว เวลาที่เราให้เขาแยกเขี้ยวข้างใดข้างหนึ่งตกไปซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงไปแยกเขี้ยวไม่ได้ ตาแหก คือหลับตาไม่สนิท อาการเหล่านี้ในทางแพทย์ปัจจุบัน เรียกว่าอัมพาต อัมพฤกษ์
3.น้ำมันสนั่นไตรภพ เอาสมุนไพรกว่า16 ชนิดมาผสมน้ำมันงา และ 1 ใน 16 ชนิดของสมุนไร คือ ใบกัญชาสดเคี้ยวเสร็จแล้วผสมส่วนผสมต่างๆ จนครบตามตำหรับโบราณ น้ำมันนี้ใข้สำหรับมะเร็งที่มีอากาศท้องมารหรืออาการบวมโต โดยการทามานวดบริเวณท้องจะทำให้อาการท้องยุบลง จะทำให้คนไข้ทานข้าวได้ไม่อึดอัดแน่นหายใจสะดวกขึ้น นอกเหนือการทาแก้ท้องมานผู้ที่มีอาการเกร็ง และสามารถรักษาอาการอัมพาต อัมพฤกษ์บางส่วนได้
ภาพน้ำมันกัญชา
4.อีกตำหรับหนึ่งที่อยากกล่าวถึง ภาษาโบราณเรียกว่า ยาแก้ฝีรวงผึ้ง มาเทียบเคียงอาการแผนปัจจุบันคือมะเร็งตับระยะเริ่มแรก ยาชื่อฝีรวงผึ้งอยู่ในจากรึกวัดโพธิ์มีส่วนประกอบของกัญชาอยู่ด้วย
ในเบื้องต้นเราจะวิจัยจาก 4 ตำรับนี้ก่อน อีก 4 ตำรับ ยังอยู่การพัฒนาให้อยู่ในมาตรฐาน เป็นสูตรยารักษาเบาหวาน ขาวแท่งทอง เป็นต้น
สูตรตำรับยาเหล่านี้ได้ความรู้จากคัมภีร์โอสถพระนารยณ์และจารึกต่างๆ ซึ่งในการทำงานจะต้องประชุมร่วมกับหมอแผนไทยครูบาอาจารย์เพื่อเทียบเคียงความรู้ เพราะหากอ่านตำรับยาที่เป็นภาษาโบราณจะเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นต้องประชุมกันและหาความรู้และทำสูตรยาให้เป็นมาตรฐานก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจไปผลิตยาแบบผิดวิธีอาจจะทำให้ยาไม่ได้ผล และเราจะไม่สามารถสรุปผลการวิจัยได้เพราะว่าเราปรุงยาผิดนั่นเอง
งานวิจัยทำโดยประเทศอิสราเอลพบว่า กัญชามีผลของการเสพติดน้อยกว่าแอลกอฮอล์กับบุหรี่ คำว่าเสพติดในทางการแพทย์ คือ ถ้าสารเคมีใดเราเสพเข้าไปเกิดภาวะอิสระ (independent) เช่น เสพแล้วต้องเสพขึ้นเรื่อยๆ ให้ระดับความพึงพอใจ ถ้าหยุดเสพจะมีการลงแดง หรือถ้าเสพต่อเนื่องยาวนานจะทำให้มีปัญหาต่อสมองมีความผิดปกติของสมอง ซึ่งทั้ง 3 สาเหตุนี้ไม่มีอยู่ในกัญชา ในทางการแพทย์ไม่มีข้อมูลว่าเป็นสารเสพติด แต่สิ่งที่เสพติดหรือสิ่งที่พึ่งพาทางจิตใจเหมือนคนติดบุหรี่ติดเหล้า ดังนั้นในส่วนการแพทย์แผนไทยได้เขียนไว้ว่า กัญชาไม่ใช่สารเสพติด
อย่างไรก็ตามในงานวิจัยเขียนไว้ว่า แท้ที่จริงกัญชาทำให้ติดหรือไม่ เราจะเก็บข้อมูลจากคนที่รับยาไปทาน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการนำเอากัญชากลับมาเป็นประโยชน์ต่อทางการแพทย์ โดยกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ประเภท 5 แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมอแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ฯลฯ ผู้ที่มีวิชาชีพที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยสามารถใช้กัญชากับคนไข้ได้.
หมายเหตุ: ตอนต่อไปการใช้กัญชาทางการแพทย์เสรี