In Bangkok

กทม.ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาPM2.5 โครงการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพ



กรุงเทพฯ-(13 ส.ค. 67) นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดงานสรุปผลการดำเนินงาน ศูนย์วิชาการ เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ และพิธีมอบรางวัลโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone, LEZ) 

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 ซึ่งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานสรุปผลการดำเนินงาน ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ขึ้นเพื่อแสดงผลการดำเนินเกี่ยวกับการลดฝุ่น PM2.5 โดยโอกาสนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้มอบโล่เกียรติคุณและเกียรติบัตรให้กับสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่ 5 เขตของกรุงเทพมหานคร และนักเรียนที่ได้รับรางวัลภาพวาดในกิจกรรม Clean Air Art 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นปัญหาที่สำคัญและซับซ้อน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยสรุปปัญหามาจาก 3 สาเหตุ คือ 1. ฝุ่นโดยแท้จริงไม่ได้มีแหล่งเกิดจากไทย อาจมาจากเผาพืชผลทางการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน กระแสและทิศทางลมได้นำพาเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งมีความจำเป็นมากที่ต้องอาศัยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลในส่วนนี้  2. เรื่องกฎหมายที่มีความซับซ้อนเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างของกรุงเทพมหานครได้มีกฎเรื่องการปรับรถโดยสารสาธารณะเป็นรถไฟฟ้า และผ่านสภากรุงเทพมหานครแล้วแต่ไม่ผ่านคณะรัฐมนตรีเนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของกรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนของพระราชบัญญัติอากาศสะอาดกรุงเทพมหานครสนับสนุนให้มีผลบังคับใช้เพื่อประชาชนจะได้มีอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ และข้อที่ 3. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ส่วนใหญ่มาจากภาคการจราจร ผู้ที่มีรายได้น้อยยังมีการใช้รถยนต์สันดาบ การไม่ดูแลสภาพรถยนต์จึงทำให้เกิดมลพิษตามมา 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ทุกปัญหาที่ก่อให้เกิดฤดูฝุ่นของกรุงเทพมหานคร สำคัญคือระบบการจัดการทรัพยากรต่างๆให้มีประสิทธิภาพโดยนักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ โครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone, LEZ) ก็เป็นโครงการดีๆ จากศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) ที่ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านอากาศสะอาดมาช่วยประชาชนทุกคนให้มีองค์ความรู้ และผลักดันเยาวชนให้ช่วยกันสร้างอากาศสะอาดให้กับตนเองและคนรุ่นหลังต่อไป 

สำหรับศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) จัดตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์รวมนักวิชาการในการพัฒนาองค์ความรู้เป็นฐานในการขับเคลื่อน สื่อสารชี้น้ำสังคม และสนับสนุนมาตรภาร นโยบาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย โดยกิจกรรมหนึ่งที่ทาง ศวอ.ดำเนินการซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ผ่านมา คือ โครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) หรือ LEZ ในพื้นที่ 5 เขต คือ เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตคลองสาน เขตคลองเตย และเขตบางรัก โดยมีสถานประกอบกิจการ สถานศึกษา และศาสนสถาน เข้าร่วมโครงการ 21 แห่ง รวมทั้งมีกิจกรรม Clean Air Art จัดประกวดวาดภาพผลงานศิลปะในหัวข้อ "อากาศดี๊ดี ของคนกรุงเทพ" ของนักเรียนชั้นระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ 5 เขตที่เข้าร่วมโครงการ โดยหวังกระตุ้นและปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศในการเข้ามามีส่วนร่วม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการของภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ และสถานประกอบการต่าง และผลงานภาพวาดทั้ง 43 ผลงานให้ชมด้วย

ทั้งนี้ อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะอาจารย์ นักศึกษา และภาคีเครือข่ายโครงการเขตมลพิษต่ำ ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ห้องแมนดารินแกรนด์บอลรูม (บีและซี) โรงแรมแมนดาริน แมเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร