Authority & Harm
เผยศาลปกครองสูงสุดชี้คำสั่งคสช.ไม่ คุ้มครองทำผิดถมคลองเปรมฯ
ปทุมธานี-หลายหน่วยงานมีหนาวเมื่อศาลปกครองสูงสุดชี้คำสั่งคสช.ไม่คุ้มหัวการทำผิดกฎหมาย ปล่อยผู้รับเหมามั่วถมคลองเปรมฯสร้างบ้านมั่นคงและเขื่อนกันตลิ่ง ผู้เดือดร้อนที่มีกรรมสิทธิ์/ครอบครองที่ดินริมคลองเปรมฯฟ้องดำเนินคดีได้
เมื่อวันที่ 16สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ผู้อยู่อาศัยริมคลองเปรมประชากรในพื้นที่ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี จำนวน 130 คน ร่วมกันยื่นฟ้องหน่วยงานต่างๆของรัฐ ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมธนารักษ์ เทศบาลตำบลหลักหก สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต และกรมชลประทาน ในกรณีที่หน่วยงานต่างๆดังกล่าวกระทำการถมดินลงคลองเปรมประชากรเพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น(ศาลปกครองกลาง) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยให้เหตุผลว่าเพราะหน่วยงานต่างๆปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 9/2560 ข้อพิพาทจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำสั่งคสช.ที่ 9/2560 มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรตามนโยบายของรัฐบาล มีผลเป็นการทั่วไปโดยมิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดโดยเฉพาะ
“คดีที่ฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองตาม มาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1) และ (2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2542”
อย่างไรก็ตามศาลเห็นว่าผู้ฟ้องทั้ง 130 รายไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินริมคลองเปรมประชากรบริเวณที่พิพาท ไม่ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการดำเนินโครงการ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
นายภาณุเมศร์ ศิรินรานันทร์ ผู้นำกลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรมประชากร ซึ่งเป็น 1 ใน 130 รายที่ยื่นฟ้องเปิดเผยว่า ทางกลุ่มมีการประชุมหลังรับฟังคำสั่งศาลโดยมีข้อสรุปว่า แม้ศาลจะไม่รับฟ้องแต่ถือว่าการต่อสู้ของคนในพื้นที่ประสบความสำเร็จในการไม่ปล่อยให้หน่วยงานต่างๆของรัฐร่วมทำการถมคลองเปรมฯเพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงและเขื่อนกันตลิ่งอย่างผิดกฎหมายโดยแอบอ้างคำสั่งคสช.ว่าให้การคุ้มครองโดยกลุ่มจะยังติดตามการทำงานและหาผู้รับผิดชอบในการถมคลองเปรมฯของทุกหน่วยงานต่อไป
“ในคำสั่งศาลแม้จำต้องยอมรับแต่พวกเรามีข้อสงสัยว่า คณะตุลาการท่านเอาข้อมูลใดหรือบรรทัดฐานใดในการพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องทั้ง 130 ราย ไม่ใช่ผู้เดือดร้อนหรืออาจจะเดือดร้อน เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินริมคลองเปรมฯทั้งๆที่พวกเราเป็นเจ้าของบ้านพักอาศัยในหมู่บ้านหลายแห่งที่อยู่ติดคลองเปรมฯมีทางเข้าออกต้องข้ามคลองเปรมฯและเคยประสบภัยน้ำท่วมที่เอ่อล้นจากคลองเปรมฯมาแล้วหลายครั้ง ”นายภาณุเมศร์กล่าว