Authority & Harm
เบาใจ!กรมชลฯเปิดน้ำทิ้งทะเลครึ่งเดือน 'ปลาหมอคางดำ'หายเกลี้ยงคลองแปดริ้ว
ฉะเชิงเทรา-ปลาหมอคางดำหายเกือบหมดเกลี้ยงคลอง หลังกรมชลประทานเปิดระบายน้ำทิ้งทะเลต่อเนื่องยาวนานเกือบทุกวันกว่าครึ่งเดือน ขณะฝูงปลาแถวหน้าที่รุกเข้าไปถึงยังพื้นที่ชั้นใน อ.บางปะกง ระบาดทะลุไปทั่วในลำคลองเกือบทุกสายแล้ว หลังมีชาวบ้านหาปลาจับได้ต่อเนื่อง แต่ปริมาณยังไม่หนาแน่น เหตุจากมีปลาช่อนนักล่าเจ้าถิ่นคอยช่วยสกัดกำจัดไว้
วันที่ 20 ส.ค.67 เวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมศักดิ์ บุตรโสภา อายุ 56 ปี ชาวบ้าน ม.2 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้มีอาชีพดักลอบหาปลาในคลองขุดใหม่เลียบถนนสุขุมวิทสายเก่า (สาย 3) เส้นทางน้ำเชื่อมต่อมาจาก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เข้ามายังในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ขณะนี้ปลาหมอคางดำในคลองเริ่มลดน้อยลงแล้ว หลังจากทำการดักลอบทิ้งไว้ข้ามคืนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ไม่พบว่ามีปลาหมอคางดำเข้ามาติดอยู่ในลอบแล้ว
หรืออาจมีเพียงบางครั้งประมาณ 2-3 วัน จึงจะมีหลงเข้ามาติดอยู่ในลอบแค่เพียง 1 ตัวเท่านั้น จึงเชื่อว่าเกิดจากการที่ทางกรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำทิ้งทะเล และมีการสูบน้ำช่วยระบายน้ำฝนจากลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือรวมถึง กทม. ลงสู่ปากอ่าวบางปะกงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงกว่าครึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่งจะเห็นว่าทางกรมชลประทานเพิ่งจะหยุดสูบระบายน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองพระยาวิสูตร (แสมขาว) แค่เพียงเมื่อ 2 วันก่อนหน้า และมีการระบายทิ้งอีกครั้งเมื่อวานนี้ แต่ในวันนี้ได้หยุดระบายน้ำทิ้งทะเลแล้ว
จึงทำให้ปลาหมอคางดำที่เคยระบาดอยู่ภายในลำคลองขุดใหม่สายนี้ ถูกระบายทิ้งลงทะเลไปกับน้ำจนเกือบหมด และหายเงียบไปตามกระแสน้ำ ไม่เข้ามาติดอยู่ภายในลอบที่ดักเอาไว้เลย โดยพบแต่เพียงปลาหมอสีเท่านั้น หรือหลายๆ วันจึงจะพบปลาหมอคางดำสัก 1 ตัว แต่แม้จะพบแค่เพียงตัวเดียวก็ยังคงมีไข่พร้อมที่จะแพร่พันธุ์ได้ตลอดเวลาอยู่เต็มท้อง นายสมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายเอนก ท้วมพงษ์ อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58 ม.10 ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้มีอาชีพดักลอบหาปลาภายในคลองบางวัว เล่าว่า ตนมีอาชีพดักลอบหาปลาและรับจ้างซ่อมข้าวในนาที่งอกไม่เต็มแปลงให้แก่ชาวบ้าน โดยก่อนหน้านั้นจะวางลอบไปตามลำคลองหลายสาย ทั่วทั้งพื้นที่ย่านนี้ ประมาณ 350 ตัว แต่หลังจากป่วยจึงหยุดพักไปประมาณ 3 ปี และเพิ่งกลับมาออกหาปลาใหม่อีกครั้งขณะนี้ จึงได้วางลอบไว้จำนวน 50 ตัวในแต่ละวัน
จากการกู้ลอบในทุกวันมักจะได้ปลาหมอคางดำติดเข้ามาในลอบด้วย แต่ไม่มากนักประมาณกว่า 10 ตัวต่อวัน หรือบางวันจะได้เพียงประมาณ 4-5 ตัวไม่แน่นอน ซึ่งปกติจะหาปลาได้วันละกว่า 10 กก. ส่วนใหญ่จะเป็นปลาช่อนและปลานิล ปลาหมอไทย และปลาไหล โดยปลาหมอคางดำที่พบจะมีขนาดประมาณ 3 นิ้ว ตัวไม่ใหญ่มากเท่ากับปลานิล ลำตัวจะสะท้อนแสงแดดสีออกเงาทองรูปทรงยาวกว่าปลานิล ซึ่งจุดที่พบจะอยู่แถวคลองเสือน้อย คลองกำนันคู และบริเวณหลอดขนาดเล็กที่ชาวนาระบายน้ำเข้าออกจากแปลงนา เช่น คลองหลอดตาฟุ้ง
โดยปลาหมอคางดำมักจะไปรวมตัวออกันอยู่ที่บริเวณปากท่อที่ชาวนาระบายน้ำออกมาจากแปลงนา ซึ่งเชื่อว่าปลาหมอคางดำน่าจะพยายามที่จะปีนขึ้นไปหาที่อยู่ใหม่ เพื่อวางไข่เร่งแพร่ขยายพันธุ์ไปตามแหล่งต้นน้ำ และมักจะชอบว่ายทวนน้ำขึ้นไป ส่วนคลองบางวัว ซึ่งเป็นคลองสายใหญ่เชื่อมไปจนถึง ต.พิมพา ผ่านนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์นั้น พบเห็นปลาหมอคางดำไม่มากนัก เนื่องจากมีปลาช่อนชุกชุมอยู่แถวนี้มากกว่า จึงเชื่อว่าปลาช่อนน่าจะช่วยกินปลาหมอคางดำหมดไปบ้าง ทำให้เหลือน้อยลง นายเอนก กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา