Travel Sport & Soft Power
หนองบัวลำภูประกวดกระเจียวอุษาไม้ป่า สู่พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ชุมชน
หนองบัวลำภู-เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ วิสาหกิจชุมชนอุษาลำภู ไร่ผาชมจันทร์ บ้านภูพานทอง ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานเกษตรหนองบัวลำภูจัดงานกระเจียวอุษา จากไม้ป่าสู่พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนคนหนองบัวลำภู มีนายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ,พี่น้องประชาชน ,ภาคีเครือข่าย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ
โดยนายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ได้กล่าวว่า กระเจียวอุษาหรือว่านพญาไก่ขัน เป็นไม้ดอกที่มีดอกขนาดใหญ่ สีแดงเข้มสวยงามมีศักยภาพในการพัฒนา เป็นไม้ดอกไม้ประดับในเชิงเศรษฐกิจเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนคนหนองบัวลำภูได้ ดังนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์กระเจียวอุษาลำภู และวิสาหกิจชุมชนอุษาลำภู บ้านภูพานทอง กำหนดจัดงาน "กระเจียวอุษา จากไม้ป่าสู่พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนคนหนองบัวลำภู มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกระเจียวอุษา ,เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์กระเจียวอุษา รวมทั้งพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนคนหนองบัวลำภู ,เพื่อบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการภาคเอกชนและประชาชน ภายในงานได้กำหนดกิจกรรมได้แก่ การประกวดกระเจียวอุษาชิงเงินรางวัลรวมกว่า 10,000 บาท และมีการบรรยายให้ความรู้ และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์กระเจียวอุษาเพื่อการค้า
นายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวเพิ่มเติมว่า กระเจียวอุษา หรือชาวบ้านเรียก ว่านพญาไก่ขัน ถูกประกาศให้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก เป็นพืชถิ่นเดียวของจังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยพบแพร่กระจายพันธุ์เฉพาะบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภูและรอยต่ออำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เท่านั้นเติบโตในดินปนทรายของป่าไผ่และป่าเต็ง รัง ที่ความสูง 200-500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลบริเวณที่พบได้แก่บริเวณเทือกเขาภูพานน้อย และพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานที่ทอดตัวจากทิศตะวันออกของอำเภอเมืองหนองบัวลำภูถึงเทือกเขาภูเก้าในพื้นที่อำเภอโนนสังและรอยต่ออำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ประมาณการขอบเขตการแพร่กระจายพันธุ์ครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 150 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่เป็นถิ่นอาศัยประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร พืชชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการผ่าหัว การเพาะเมล็ดและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ต่อมาสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู เห็นว่ากระเจียวอุษา เป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์และตลาดต้องการสูง เพื่อเป็นการอนุรักษ์และขยายพันธุ์และยกระดับรายได้ของเกษตรกร จึงได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอุษาลำภูบ้านภูพานทอง เมื่อปี 2564 มีสมาชิก 10 ราย และมีเครือข่าย 6 อำเภอ จำนวน 23 ราย ราคาจำหน่ายกระถางละ 250-25,000 บาท นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบพัฒนาจังหวัดหนองบัวลำภูปี 2569 ส่งเสริมการผลิตกระเจียวอุษาลำภูเชิงการค้าเป็นเงิน 2,015,350 บาท ทั้งนี้ ในอนาคต กระเจียวอุษา จะเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่จะยกระดับรายได้ของชุมชนได้เป็นอย่างดี