Authority & Harm

'กรมราชทัณฑ์'ทำเอ็มโอยูกรมหม่อนไหม ส่งเสริมประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม



กรุงเทพฯ-วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ กรมหม่อนไหม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม” โดยมี พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม ในนามกรมหม่อนไหม และนายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา ในนาม   กรมราชทัณฑ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ผู้อำนวยการสถานกักขัง เขต 5 เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

กรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุม แก้ไข และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ให้สามารถกลับตนเป็นคนดีของสังคม ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ โดยมีกลไกในการดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนหลากหลายมิติ ทั้งการให้ความรู้ ปรับทัศนคติที่ดี การสร้างวินัย ความรับผิดชอบ เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ด้านจิตใจ ปรับปรุงแก้ไข ฟื้นฟูตามลักษณะของแต่ละบุคคล รวมถึงการสร้างโอกาสในการฝึกอบรมอาชีพที่เหมาะสม เกิดทักษะความชำนาญ สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว และไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ

การลงนามในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์และกรมหม่อนไหม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้ฝึกวิชาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในมิติต่างๆ ตั้งแต่การปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม การสาวไหมการย้อมสีเส้นไหม การทอผ้าไหม การออกแบบตัดเย็บผ้าไหม ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลหม่อนและ จากผ้าไหมส่งผลในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขัง มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว เป็นที่ยอมรับของสังคมและไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งปัจจุบันมีเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ดำเนินการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม มีจำนวน 33 แห่ง โดยมีการดำเนินงานแบบครบวงจรแล้ว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก เรือนจำจังหวัดลำพูน และเรือนจำจังหวัดนครปฐม สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งมีระยะเวลาสิ้นสุดตามข้อตกลงฯในปี พ.ศ. 2572 รวมระยะเวลา 5 ปี นอกจากพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ แล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมโครงการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมดี 4 ภาค ภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ พื้นถิ่นสู่ตลาดยุคใหม่ด้านหม่อนไหมอีกด้วย