In Bangkok
กทม.xภาคีฯจัดอบรมดูแลและคุ้มครองเด็ก เจียระไนคุณสมบัติโตอย่างมีคุณภาพ
กรุงเทพฯ-(23 ส.ค. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการอบรมเพื่อทำความเข้าใจระบบและคู่มือดูแลช่วยเหลือนักเรียน และนโยบายคุ้มครองเด็ก สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2 ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวถึงประเด็นการคุ้มครองเด็กที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ เรื่องที่หนึ่ง คำว่าคุ้มครองเด็กฟังดูเหมือนเราต้องไปปกป้องคุ้มครองเขา แต่ลืมไปว่าเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เด็กรู้สึกถูกรุกรานคุกคาม ซึ่งหน้าด่านแรกของการดูแลเด็กคือครูของ กทม. ที่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน คุณครูหลายท่านอาจต้องวางท่าทีขึงขังเพื่อให้นักรเรียนเชื่อฟังและอยู่ในระเบียบ แต่เป็นเรื่องน่ากลัวหากเราไม่มีคุณครูที่นักเรียนไว้ใจ ทำให้มีช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน เด็ก ๆ ไม่กล้าปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ทำให้ครูที่เป็นหน้าด่านในการเป็นที่ปรึกษามีน้อย อยากให้ปรับลดระยะห่างเพื่อให้ครูได้เป็นที่พึ่งทางใจของนักเรียน หากพูดให้ใหญ่ขึ้นคือเด็ก ๆ เป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดของเมืองซึ่งจะโตไปเป็นแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา ข้อดีของโรงเรียนสังกัด กทม. คือเราแทบไม่ปฏิเสธการรับเด็กเข้าเรียน เพราะฉะนั้นเราจะมีเด็กที่หลากหลาย หลายคนอาจอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมจากปัญหาทางบ้าน หน้าที่ของครู กทม. จึงคูณสอง เพราะเป็นทั้งครูและเป็นพ่อแม่อีกคนของเด็ก จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องมีการอบรมในวันนี้
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า “It takes a village to raise a child” เป็นสำนวนที่อยากหยิบยกมา เปรียบเปรยว่าเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการเลี้ยง ซึ่งจริง ๆ แล้วคนในครอบครัวคือคนแรกที่เป็นคนในหมู่บ้าน แต่ในวันที่ครอบครัวไม่พร้อมโรงเรียนจะเป็นที่พึ่งได้แค่ไหน ดั้งนั้นโรงเรียน กทม. จึงต้องมีคนที่พร้อมจะเป็นคนในหมู่บ้านในการเป็นที่พึ่งของเด็ก กทม. จึงมีนโยบาย เช่น Saturday School ทั้งนี้ ในเรื่องการคุ้มครองเด็กเป็นภาระหนักหากครูไม่มีกลไกในการลดภาระก็จะเหนื่อย จึงมีการส่งต่อไปหน่วยงานอื่น ๆ เช่น หากเจอกรณีหนักหน่วงเกินรับมือ การอบรมในครั้งนี้จะช่วยบอกว่าเราจะส่งต่อไปไหนอย่างไร และเรื่องที่สอง คือการค้นหาว่าคอขวดของปัญหาการคุ้มครองเด็กอยู่ตรงไหน เช่น การแก้ปัญหาเมื่อมีกรณีการคุกคามนักเรียนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการนั้นไปติดอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งคิดว่าไม่มีสูตรตายตัว การอบรมครั้งนี้เราจะมาค้นหาร่วมกัน
“เด็ก ๆ ที่เป็นสมบัติของเมืองจะเติบโตไปเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่โรงเรียนและครู ขอให้ช่วยเจียระไนเด็ก ๆ ทุกคน ให้เป็นอัญมณีล้ำค่า เติบโตไปเป็นคนคุณภาพและเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไป” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการอบรมเพื่อทำความเข้าใจระบบและคู่มือดูแลช่วยเหลือนักเรียน และนโยบายคุ้มครองเด็ก สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2 เพื่อทำความเข้าใจระบบฯ และเป็นไปตามนโยบายด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดย สำนักการศึกษา ร่วมกับ มูลนิธิวายไอวาย เซฟเดอะชิวเดรน และมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ สสส. ได้จัดอบรมให้ความรู้ด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและนโยบายคุ้มครองเด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร แก่ผู้บริหารสถานศึกษา และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3 รุ่น โดย รุ่นที่ 2 มีผู้เข้ารับการอบรมจากโรงเรียนกลุ่มเขตกรุงเทพใต้และกรุงเทพกลาง จำนวน 21 โรงเรียน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 21 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 21 คน รวมจำนวน 42 คน
ในการอบรมนี้ได้เรียนเชิญวิทยากรที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในงานด้านการดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็ก มาให้ความรู้ในด้านการสังเกตพฤติกรรมนักเรียน ขั้นตอนการปรับและพัฒนาพฤติกรรม หรือการให้การความช่วยเหลือโดยการส่งต่อนักเรียนให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วภายใต้การประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือและพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานตามที่หน่วยงานสามารถให้การช่วยเหลือสนับสนุนได้
ในการนี้มี ผู้แทนสำนักการศึกษา มูลนิธิวายไอวาย เซฟเดอะชิวเดรน มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงาน