Authority & Harm
นครปฐมจัดประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมรับมือน้ำเหนือผ่านลุ่มน้ำท่าจีน
นครปฐม-ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานในการจัดประชุมติดตามสภาพภูมิอากาศสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำท่าจีน
วันที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นางสาวอโรชา นันทมนตรี นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม โครงการชลประทานนครปฐม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุกแห่ง นายอำเภอทุกอำเภอ แขวงทางหลวงนครปฐม แขวงทางหลวงสมุทรสาคร และแขวงทางหลวงชนบท สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สถานีอุตุนิยมวิทยานครปฐม กลุ่มประสานงานลุ่มน้ำท่าจีน สทนช.ภาค 2 และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครปฐม (อุทกภัย) ปี 2567 ครั้งที่ 2/2567 เพื่อติดตามสภาพภูมิอากาศสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำท่าจีน
ซึ่งจังหวัดนครปฐม ได้เตรียมรับสถานการณ์ผลกระทบจากภาวะลานีญา ช่วงเดือนกันยายน-กลางเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก จะทำให้ฝนตกชุกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 นอกจากนี้โครงการชลประทานนครปฐม ได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่ปากน้ำท่าจีน ช่วงปลายเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน 2567 มี 3 ช่วงเวลา ดังนี้ 1.ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม และ 1-5 กันยายน 2567 2.ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2567 3. ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2567 ทั้ง 3 ช่วงจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ อ.สามพราน นครชัยศรี และอำเภอบางเลน ทั้งนี้ตามสถิติระดับน้ำทะเลหนุนสูงที่ปากแม่น้ำท่าจีน มีค่าตั้งแต่ 1.35 เมตร ขึ้นไป จะส่งผลกระทบในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ อ.สามพราน นครชัยศรี และ อ.บางเลน เกิดสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งนอกแนวคันกั้นน้ำ
นายธันยา จรูญสมาธิศักดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนขณะนี้ มีปริมาณค่อนข้างสูง เช่นพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ในหลายพื้นที่น้ำค่อนข้างจะเต็มตลิ่งแล้ว ทั้งนี้ได้ประสานขอความร่วมมือหากในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงขอให้ลดการระบายน้ำลงมายังจังหวัดนครปฐม เนื่องจากเข้าสู่สถานการณ์ฤดูน้ำหลากแล้ว นอกจากนี้ พื้นที่การเกษตร แปลงนาข้าว ในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เร่งเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งจะเป็นช่วงน้ำสูงสุด และคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำไม่ถึงขั้นวิกฤตเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา
ด้านนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม (ผู้อำนวยการจังหวัดนครปฐม) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการดังนี้โครงการชลประทานนครปฐม ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการระบายน้ำ ให้ประชาชนเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อถึงระดับที่ต้องเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน ขึ้นที่สูง หรืออพยพโยกย้ายไปยังที่ปลอดภัย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ที่ได้รับจัดสรรใหม่ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง เพื่อเร่งระบายน้ำให้สอดคล้องกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูง โดยในช่วงบ่ายวันนี้ จะจัดประชุมชี้แจงผู้รับผิดชอบในการควบคุมเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำทุกแห่ง เพื่อวางแผนการระบายน้ำทั้งระบบ นอกจากนี้ มอบให้โครงการชลประทานนครปฐม สรุปข้อมูล ความคืบหน้า ของคลองลัดต่างๆ ว่าดำเนินการในขั้นตอนใด พบปัญหาอุปสรรคอย่างไร โดยให้รายงานในการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครปฐม (อุทกภัย) ครั้งต่อไป
แขวงทางหลวงนครปฐม ประสานแขวงทางหลวงสมุทรสาคร เตรียมจัดทำแนวป้องกัน ไม่ให้น้ำท่วมขังถนนบรมราชชนนี ในช่วงฝนตกหนักอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ทุกอำเภอจัดกิจกรรม big cleaning day ทำความสะอาด ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา กระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ ตื่นตัวช่วยกันป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนตนเอง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวตลอดไป ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครปฐม (อุทกภัย) จะได้ติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งแก้ปัญหา ช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนโดยทันที