In Global
บทวิเคราะห์:โอกาสทางการค้าการเติบโต ของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีน
จากข้อมูลความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนที่มีการเผยแพร่เร็วๆนี้ วิเคราะห์ได้ว่า ความร่วมมือระหว่างสองประเทศนี้ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าและการลงทุนทางอุตสาหกรรม
สินค้าเกษตรไทยยังสดใสในตลาดจีน แต่ถึงเวลาปรับสู่สินค้าที่มีนวัตกรรมและคุณภาพสูง
จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก และเป็นตลาดการค้าที่สำคัญระดับสากล นโยบายการเปิดตลาดของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้จีนเป็นพันธมิตรการค้าที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน มังคุด และสินค้าประมง ที่จีนมีความต้องการสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในปีที่ผ่านมา
การส่งออกทุเรียนจากไทยไปยังจีนมีมูลค่าสูงถึง 4.566 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดจีนที่เปิดกว้างสำหรับสินค้าไทย
นอกจากสินค้าเกษตรแล้ว จีนยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าที่มีนวัตกรรมและคุณภาพสูง
ผู้ประกอบการต้องเน้นพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ผู้ประกอบการไทยที่สามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจีน อย่างการต่อยอดนวัตกรรมจากสินค้าเกษตรของไทยที่มีการรับรู้ที่ดีในกลุ่มชาวจีนอยู่แล้ว ดังที่สินค้าเกษตรไทยครองสัดส่วนในจีนกว่า 40% มาหลายปี
ใช้โอกาสจากการเปิดรับสินค้าไทยมากขึ้นของตลาดจีน
ถ้าพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นว่า แม้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ไทยขาดดุลต่อจีน แต่เป็นการขาดดุลในลักษณะของ การนำเข้าสินค้าทุนจากจีน เพื่อนำมาผลิตในไทยและสร้างมูลค่าด้วยการส่งออก
ในความเป็นจริงไทยเกินดุลจีนด้วย ในช่วงก่อนปี 2562 แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างเช่นลักษณะสินค้าที่ต้องการ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องขาดดุล-เกินดุล อย่างที่ไทยนำเข้าจากจีน เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น
สายเทคโนโลยีเป็นโอกาสที่สดใส สำหรับผู้ประกอบการไทย
นอกจากการค้าขายแล้ว จีนยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และเศรษฐกิจดิจิทัล
การลงทุนจากจีนไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย แต่ยังช่วยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นของไทย เช่น เทคโนโลยี 5G ที่นำมาใช้ในประเทศไทยซึ่งช่วยให้ไทยเป็นผู้นำในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทดแทนซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่จีนมีบทบาทสำคัญในประเทศไทยนั้น ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังช่วยสร้างงานและพัฒนาทักษะของแรงงานไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ผู้ประกอบการไทย สามารถใช้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซจีน เป็นสะพานเชื่อมสู่ตลาดจีน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยขยายโอกาสทางการค้าไทย-จีน คือการเติบโตของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจีนได้โดยตรงผ่านช่องทางดิจิทัล แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดจีน และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
การถ่ายทอดสดขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ "ไลฟ์คอมเมิร์ซ" ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ทำให้หลายบริษัทไทยสามารถเพิ่มยอดขายในตลาดจีนได้ในเวลาอันสั้น การใช้กลยุทธ์นี้ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังช่วยสร้างการรับรู้ในแบรนด์สินค้าไทยในหมู่ผู้บริโภคจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างผู้ประกอบการไทยกับตลาดจีน
โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาทภายในสองวัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท