In Thailand
กรมวิชาการเกษตรติวการพ่นสารป้องกัน กำจัดศัตรูพืชด้วยโดรนอย่างถูกต้อง
กรุงเทพฯ 5 กันยายน 2567 - กรมวิชาการเกษตร โดยนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ นางช่อทิพย์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร “เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชด้วยอากาศยาน หรือ โดรน” สำหรับไม้ผล ให้เกษตรกรเพื่อนำความรู้ที่ได้ทั้งด้านแมลงศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช และเทคนิคการพ่นสาร ไปปรับใช้ในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยโดรน ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จัดโดยคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้อากาศยานไร้คนขับ (drone) สำหรับการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลและผู้สนใจ เข้าร่วมการฝึกอบรมกว่า 110 คน
นางช่อทิพย์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานวิจัยด้านอารักขาพืชหลักของประเทศ ได้ศึกษาวิจัยการใช้อากาศยานทางการเกษตรในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องจากงานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับถ่ายทอดให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่จะพัฒนาเกษตรกรที่ใช้อากาศยานทางการเกษตรพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ให้มีองค์ความรู้ทางวิชาการและวิธีปฏิบัติในการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนวิทยากรและอุปกรณ์ จากสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย บริษัท ทีซีเอส อะโกรเทค จำกัด และบริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากงบอุดหนุนคงเหลือจากการดำเนินงานวิจัยงานมูลฐาน (Fundamental Fund) ปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.
อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเกษตรของประเทศไทยและของโลกในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น เช่น การพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมนพืช การหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ และการถ่ายภาพ สำหรับการใช้โดรนให้ถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผู้ใช้มีความจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านต่างๆ อาทิเช่น รู้จักศัตรูพืช การเลือกใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ถูกชนิดกับศัตรูพืช การคำนวณสารและน้ำได้ถูกต้อง รู้เทคนิคการบินพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนมาตรฐานการปฏิบัติงานการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับทางการเกษตรที่ถูกต้อง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้โดรนพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเปรียบเทียบการทำงานด้วย โดรนกับแรงงานคนต่อวัน สำหรับพื้นที่นา 100 – 200 ไร่ ในการพ่นสาร หากใช้โดรนพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชใน 1 วัน จะใช้แรงงานเพียง 2 คนต่อ 100 ไร่ เมื่อเทียบกับแรงงานคนใน 1 วัน ต้องใช้ถึง 8-10 คนต่อ 100 ไร่ โดรนจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตัวช่วยของเกษตรกรได้อย่างดี ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนอนาคตคาดว่าต้นทุนโดรนเพื่อการเกษตรจะถูกลง ขณะที่ต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการใช้อากาศยานทางการเกษตร ในการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตของภาคการเกษตรประเทศไทย จึงมอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้อากาศยานไร้คนขับ (drone) สำหรับการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเนื้อหาการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น ภาคบรรยาย เพื่อให้เกษตรกรได้รู้จักศัตรูพืชที่สำคัญในไม้ผล ประกอบด้วย โรคพืช คือ ลักษณะอาการของพืชที่ผิดไปจากปกติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืช ส่งผลให้มีปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลง เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคราสีชมพู โรคใบติด เป็นต้น แมลงและไรศัตรูพืช คือ แมลงและไรที่เป็นศัตรูพืช ทำความเสียหายให้กับผลผลิต โดยการกัดกิน เจาะ ชอนไช หรือดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช ทำให้พืชได้รับความเสียหายแตกต่างกันไปตามชนิดของแมลงที่เข้าทำลาย ด้วงชนิดต่างๆ หนอนผีเสื้อ มวน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง ฯลฯ อีกทั้งบางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคพืช และวัชพืช คือ พืชที่ขึ้นในที่ที่ไม่ต้องการ แก่งแย่งปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชปลูก ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งวัชพืชสามารถเจิญเติบโดได้อย่างรวดเร็ว ทนต่อการกำจัด และปรับตัวได้ดี เช่น หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก สาบม่วง ผักปราบไร่ แห้วหมู เป็นต้น เราจึงต้องรู้จักการเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องกับชนิดของศัตรูพืช การหมุนเวียนกลุ่มสารเพื่อลดปัญหาศัตรูพืชต้านทาน ขั้นตอนการผสมสารที่ถูกต้อง และเทคนิคการพ่นสารที่มีประสิทธิภาพสำหรับพ่นด้วยโดรน เป็นต้น สำหรับภาคปฎิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ฐาน ประกอบด้วย 1) สูตรสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การผสม และการคำนวณ 2) ทดสอบการบินพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และ 3) ความปลอดภัยและอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ฝึกปฏิบัติ สำหรับนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และใช้เทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาพัฒนาต่อยอดพร้อมนำเกษตรกรก้าวสู่ยุคของ Smart Farm เปิดประสบการณ์ด้านนวัตกรรมการเกษตรยุคใหม่ที่จะมาช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น นางช่อทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเรียนรู้ “เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชด้วยอากาศยาน หรือ โดรน” สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการฝึกอบรมได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/plprotect/) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิริชัย สาธุวิจารณ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ โทร. 09 2919 2454