In Thailand
ประจวบฯประกาศเป็นเขตระบาดลัมปีสกิน
ประจวบคีรีขันธ์-ประกาศเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปีสกินในโคกระบือทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห้ามเคลื่อนย้ายโดยเด็ดขาด หลังตรวจพบ ติดเชื้อแล้ว 426 ตัว ใน 6 อำเภอ และมีแนวโน้มการแพร่กระจายของโรค พร้อมเร่งฉีดพ่นยาฆ่าแมลงดูดเลือด พาหะนำโรค
วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ระบาดในโคเนื้อและโคนม ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มพบสัตว์ป่วยครั้งแรกที่ ต.สามกระทาย อ.กุยบุรี ต่อมา พบเพิ่มที่ ต.ไรใหม่ อ.สามร้อยยอด , ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี และ อ.หัวหิน ตามลำดับ
โดยขณะนี้พบการระบาดของ โรคลัมปีสกิน ในโคเนื้อและโคนม ใน 6 อำเภอ ประกอบด้วย หัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ และทับสะแก มีสัตว์ป่วยติดเชื้อแล้ว 426 ตัว
สำหรับโรคนี้มีแมลงดูดเลือด ได้แก่ ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ และมีแนวโน้มที่จะระบาดไปยังท้องที่จังหวัดอื่นๆเพิ่มขึ้นได้ จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด ส่งผลเสียก่อให้เกิดการสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบืออย่างมาก
ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมการระบาด ล่าสุด นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงนามในประกาศ กำหนดเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในโค กระบือ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ครอบคลุมทั้งจังหวัด
โดยกำหนดให้ทุกท้องที่ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรคระบาดชนิดโรคลัมปีสกิน ในสัตว์ชนิดโคและกระบือ ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์โคและกระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าว เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ตามที่บัญญัติได้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปีสกินนั้น หลังมีการประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ได้สั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของโรค และเร่งควบคุมแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหะนำโรค เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ได้ประสานหน่วยงาน ร่วมกับท้องถิ่น ทั้ง อบต.และเทศบาล เข้าดำเนินการพ่นยาฆ่าแมลง โดย อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนน้ำยาฆ่าแมลงให้กับท้องถิ่นที่เกิดโรค เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า ยังสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ เกษตกรและหน่วยงานท้องถิ่นให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี