Digitel Tech & Innovation
ETDAโชว์แผนปี68หลังผลงาน4ปีสุดปัง! เร่งขยายต่อ4โจทย์ใหญ่สู่อนาคตดิจิทัล
กรุงเทพฯ 12 กันยายน 2567 - สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดแถลงข่าวประจำปี “14 ปี ETDA ก้าวที่มั่นคง เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ” ฉลองความสำเร็จเปิดแผนปี 2568 พร้อมโชว์ผลงานเด่นในรอบ 4 ปี กับการเร่งสปีด #คนไทยชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล ชูกลยุทธ์ ‘ก้าวที่มั่นคง’ ลุยเข้ม 4 โจทย์ใหญ่! ย้ำบทบาท ‘Co-Creation Regulator และ Promoter’ ทั้ง ‘ต่อยอด Ecosystem ธุรกรรมออนไลน์-เสริมกลไกกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลและดันบทบาท AI Governance - ยกระดับ SMEs รัฐ เอกชน สู่ Digital Transform ผนวก Digital ID กับ e-Service และดัน Model ใหม่ที่ตอบโจทย์ในพื้นที่ - เพิ่มคนคุณภาพฝั่งแรงงานดิจิทัลและเสริมเกราะให้คนไทยรู้ทัยภัยออนไลน์’ ภายใต้การบริหารงานของทีมผู้บริหาร ETDA เพื่อเร่งขยายการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ที่จะส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้คนไทยมีชีวิตดีขึ้นกว่าที่เคย…ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า กว่า 14 ปี ของ ETDA กับการขับเคลื่อนอนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ให้ก้าวสู่สังคมดิจิทัลด้วยบทบาทสำคัญ ทั้ง ‘Co-Creation Regulator’ กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ควบคู่ไปกับบทบาท ‘Promoter’ มุ่งส่งเสริม รัฐ เอกชน SMEs ผนวก Tech Provider ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพ สู่เป้าหมายใหญ่ 30:30 ทั้งการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เพิ่มเป็น 30% ของ GDP และนำพาประเทศไทยขึ้นสู่ 30 อันดับแรกของโลก ในด้านความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ภายในปี 2670 ดังนั้น ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2564-2567) ถือเป็นช่วงการทำงานในวาระที่ 1 ได้เห็นประเด็นที่ท้าทาย จึงเร่งเชื่อมงานต่อ สู่การทำงานในวาระที่ 2 ที่มุ่งเน้นขยายการใช้งานเทคโนโลยีในทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น ต่อยอด Ecosystem ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ โดยได้เดินหน้าผ่านการขับเคลื่อนงานใน 4 มิติหลัก ไม่ว่าจะเป็น
1. Digital Infrastructure & Ecosystem - คนไทย...ทำธุรกรรมออนไลน์ น่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย Digital ID ที่ได้ร่วมวางรากฐานของระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่รองรับการให้บริการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ตั้งแต่ Digital ID Framework กรอบใหญ่ในการขับเคลื่อนการให้บริการฯ ที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สู่การมีกลไกการกำกับดูแล ภายใต้กฎหมาย Digital ID พร้อมออกมาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการดำเนินงาน เช่น Biometric, การสแกนใบหน้า และการมอบอำนาจทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้ให้บริการ Digital ID ได้รับใบอนุญาตแล้ว 12 ราย รวม 16 ใบอนุญาต พร้อมสนับสนุนการเชื่อม Digital ID กับการให้บริการภาครัฐผ่านออนไลน์ (Government e-Service) แล้ว 449 บริการ และในมุมของผู้ใช้งานหรือประชาชน ยังได้สร้างการรับรู้พร้อม Use case ผ่าน Social media อย่างต่อเนื่องกับแคมเปญ MEiD (มีไอดี)
2. Digital Service Governance - ลดความเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทย...เชื่อมั่นใน บริการดิจิทัล ด้วยการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มความโปร่งใส เป็นธรรมในการให้บริการ ภายใต้กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ผลักดันให้มีแพลตฟอร์มฯ แจ้งข้อมูลยืนยันตัวตนแล้ว 1,813 แพลตฟอร์ม (ข้อมูล 10 ก.ย. 2567) มี Best Practices ที่จะนำไปสู่การ Self-Regulation ในระยะยาว ที่จะช่วยลด Online Fraud ผ่านกฎหมายลูก 9 ฉบับ เช่น การชดใช้หรือเยียวยาผู้ใช้บริการ, Cash on Delivery (COD), Advertisement Screening และคู่มือการดูแลการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน เสริมทัพด้วยศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือสายด่วน 1212 ETDA ที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังเสริมศักยภาพการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance) โดยศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AIGC (AI Governance Center) ทั้งการให้คำปรึกษาระดับองค์กร การออก Guideline และ Toolkit เช่น Generative AI, AI Procurement Guideline จนถึง AI Roadmap Guideline เป็นต้น โดยที่ผ่านมาทางศูนย์ AIGC ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้ง UNESCO, NECTEC รวมไปถึงสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำ เพื่อเจาะกลุ่มภาครัฐ กลุ่ม Healthcare และภาคการเงิน
3. Digital Adoption & Transformation หนุนทุกภาคส่วน ให้พร้อม Transform -ผ่านการยกระดับงานเอกสารภาครัฐ สู่อิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-Saraban และ e-Signature) โดยหน่วยงานภายในกระทรวงดีอี ได้เชื่อมโยงกันเรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้หน่วยงานที่สนใจนำระบบไปติดตั้ง พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้เกิด e-Timestamping Service Provider และมีระบบ e-Tax Invoice by email สำหรับในมุมของการส่งเสริมนี้ นอกจากภาครัฐแล้ว ยังมี SMEs โดย ETDA ได้มีผลการประเมินความพร้อมด้านดิจิทัลในปีที่ผ่านมา จึงต่อยอดพัฒนาโมเดล เพื่อปิดช่องว่าง โดยเจาะพื้นที่เศรษฐกิจ EEC และภาคใต้ ในกลุ่มภาคการผลิต การค้า และการบริการ ทั้งการเพิ่มความรู้ และ Business matching ร่วมกับ Tech Providers ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมผ่าน Digital Service Sandbox ที่มีบริการผ่านทดสอบแล้ว 8 รายจากทั้งหมด 11 ราย ขณะที่ในมุมของการคาดการณ์อนาคตเพื่อเตรียมพร้อมแนวทางการดำเนินงาน ส่วนหนึ่งจากการที่ ETDA มีข้อมูลสะท้อนภาพอนาคต ที่วิจัยและสังเคราะห์โดย ศูนย์ Foresight Center และศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลภายใน ETDA ที่มีการปล่อยรายงานประจำปี เช่น มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผลการศึกษาอนาคตด้านเทคโนโลยี จนไปถึง Mental Health เป็นต้น
4. Digital Workforce, Literacy & Protection เพิ่มแรงงานดิจิทัลคุณภาพสู่ตลาด เสริมรายได้ชุมชน พัฒนาทักษะประชาชนรู้เท่าทัน และขยายสู่กลุ่มเปราะบาง - ด้วยการพัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะด้านดิจิทัลเข้าสู่ตลาดแรงงาน 12,406 คน โดยการอบรมทั้งระดับผู้บริหาร จนถึงปฏิบัติการ รวมถึงมี e-Learning ที่ทำร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (DSD Online Training) และการรับรองทักษะดิจิทัล Digital Skill Proficiency Certification (DSPC) แล้ว 135 คน ที่ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ KBANK พร้อมกันนี้ ยังลุยลงชุมชนใน 4 ภูมิภาคเพื่อส่งเสริมสู่ Social Enterprise กับโครงการ ELDC (ETDA Local Digital Coach) ผ่านโมเดลการปั้นโค้ชดิจิทัลชุมชน เพื่ออบรมพัฒนาทักษะ ก่อนปล่อยลงสู่ชุมชนที่ได้รับคัดเลือกเพื่อพัฒนา Business plan ซึ่ง ETDA มีโค้ชฯ แล้วกว่า 5,386 คน และชุมชนที่เข้าร่วม 757 ชุมชน ที่มีการแข่งขันแผนการพัฒนาร่วมกับชุมชนผ่านแคมเปญประจำปี Craft Idea นอกจากนี้ ยังเร่งกระจายความรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และรู้ทันภัยไซเบอร์สู่ประชาชน ผ่านโครงการ EDC (ETDA Digital Citizen) และศูนย์ 1212 (ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์) ที่มีทั้งเปิดหลักสูตรใหม่ EDC Plus และ e-Learning โดยที่ผ่านมามีผู้อบรมแล้ว 57,522 คน และต่อยอดสู่ EDC Trainer เพื่อเป็นตัวแทนกระจายลงพื้นที่ ที่ตอนนี้มีเทรนเนอร์ 1,420 คน ใน 137 อำเภอ คิดเป็น 16% ของทั้งหมด (878 อำเภอ) ซึ่ง ETDA ตั้งเป้าจะลุยให้ถึงอย่างน้อย 50% ภายในปี 2570 นี้ ในขณะที่กลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการทางการได้ยิน ก็ได้มีการพัฒนาสื่อที่ให้กลุ่มดังกล่าวได้เข้าถึง ที่ตอนนี้มีสถิติการเข้าถึงแล้ว 20,000 คน พร้อมกับเร่งกระจายการรับรู้ภัยไซเบอร์กับแคมเปญ ‘สร้างภูมิคนไทย รู้ทันปัญหาออนไลน์’ ที่ลงพื้นแล้ว 22 จังหวัด 4,880 คน พร้อมเผยแพร่สื่อ ประเด็นภัยออนไลน์สู่คนไทยทั่วประเทศ จนมีคนไทยเข้าถึงสื่อของ ETDA แล้ว 32.5 ล้านครั้งการเข้าชม
ดร.ชัยชนะ กล่าวเสริมว่า สำหรับ การดำเนินงานในปี 2568 ชูแนวคิด ‘ก้าวที่มั่นคง เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ’ ที่ต่อเนื่องกับ 2 บทบาทหลักของ ETDA ทั้ง ‘Co-Creation Regulator’ และ ‘Promoter’ ที่เน้นขยายการใช้งานเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมกับ 4 โจทย์ใหญ่ ที่ ETDA ต้องไปต่อ ดังนี้
1. ต่อยอด Digital Infrastructure and Ecosystem - โดยเน้นงาน 4 กลุ่มสำคัญ คือ Document Management เสริมศักยภาพโครงสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Digital Platform Services เพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล AI Governance & Data Sharing เสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ Legal & Standard พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง พร้อมมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากผู้ให้บริการ (Service Provider) ผ่าน Innovation Sandbox
2. เร่งกลไก Digital Service and Governance - ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมสำหรับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ผ่านกลไกทั้งมาตรฐาน แนวปฏิบัติ (Best Practices) เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่จะช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ ผนวกการวิเคราะห์ผลกระทบ เช่น Labor Platform และ e-Commerce Platform เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม และสนับสนุนการมี Community ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเกิด Self-regulation ในอนาคต พร้อมผนวกบทบาทสายด่วน 1212 ETDA เพื่อรองรับช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของแพลตฟอร์มขนาดเล็กเสริมศักยภาพขององค์กรด้วย AI Governance โดยศูนย์ AIGC ทั้งการขยาย Sector สู่กลุ่ม Telecommunication และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศการมี AI Guideline & Tool ใหม่ๆ เช่น AI Project Management, Data Governance for AI เตรียมออก Implementation Guidance ของไทยที่อ้างอิง UNESCO เกี่ยวกับจริยธรรมของ AI
3. เสริมความเข้มข้น Digital Adoption and Transformation – โดยผลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการภาครัฐและเอกชนที่มากขึ้น โดยเฉพาะบริการรัฐที่ตั้งเป้าเชื่อมระบบให้ได้ 80% ภายในปี 2568 นี้ มีแนวทางการใช้งาน Digital Document Wallet สำหรับการทดลองใช้งาน พร้อมกับส่งเสริมการใช้งานผ่านแคมเปญ MEiD (มีไอดี)และติดสปีด SMEs ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนกระบวนการทางธุรกิจ โดยนำโมเดลการทำงานขยายลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่นอกจาก ภาคการค้า การบริการแล้ว ยังขยายต่อในภาคการเกษตร มุ่งเน้นการเพิ่มความรู้ เพิ่มรายได้ ขยายฐานลูกค้าและตลาดให้มากขึ้น
4. เพิ่มประสิทธิภาพ Digital Workforce, Literacy & Protection – ผ่านการดำเนินงาน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1) เพิ่มปริมาณแรงงานเฉพาะด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ตั้งเป้า 90,000 คนในปี 2570 ผ่านหลักสูตรระดับผู้บริหาร e-Learning การรับรองทักษะดิจิทัล (DSPC) และการรับรองทักษะโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) 2) เพิ่มรายได้ชุมชนและลดอัตราการว่างงาน ตั้งเป้าปี 2570 มีชุมชนเข้าร่วม 1,000 ชุมชน โดยต่อยอด Model การพัฒนาชุมชนในระดับภูมิภาค จับมือพาร์ทเนอร์ ปั้นโค้ชดิจิทัลชุมชน ผนวกการพัฒนาชุมชนทั้งการเพิ่มความรู้ และการผนวกเครื่องมือทางออนไลน์ พร้อมผลักดันสู่การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ก่อนส่งต่อพาร์ทเนอร์เพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และ 3) เสริมสร้างให้คนไทยรู้เท่าทันเทคโนโลยีและภัยออนไลน์ ขยายต่อเนื่องในกลุ่มเปราะบาง ตั้งเป้ามี EDC Trainer กระจายลงอำเภอเพิ่มขึ้นอีก 10% (ไม่น้อยกว่า 80 อำเภอ) และมี 2570 เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% พร้อมเผยแพร่ความรู้และสื่อ และเสริมการวัดผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในเชิงพื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดสร้าง Community เครือข่ายการทำงาน เพิ่มความยั่งยืนในการพัฒนาทักษะดิจิทัลคนไทย และปี 68 นี้ ETDA เตรียมพัฒนาแหล่งรวบรวมข้อมูลกลาง (Content Management) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อและความรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ETDA ยังคงก้าวอย่างมั่นคง ในการสร้างอนาคตดิจิทัลของประเทศไทย ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยเป็นการทำงาน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่ Ecosystem ไปจนถึงการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงของคนไทยในทุกกลุ่มอย่างปลอดภัย เพื่อพาประเทศก้าวสู่สังคม และเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นใจ แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมก้าวไปด้วยกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ชีวิตของทุกคนดียิ่งขึ้นกว่าที่เคย...ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ดร.ชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย