In Bangkok

คุมเข้มค่าฝุ่นPM2.5 'เมย์ฟิลด์ปิ่นเกล้า' พร้อมจัดระเบียบผู้ค้าหน้าวัดภคินีนาถ



กรุงเทพฯ-คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โครงการเมย์ฟิลด์ปิ่นเกล้า ชมคัดแยกขยะศูนย์วิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดระเบียบผู้ค้าหน้าวัดภคินีนาถ เตรียมปั้นสวนข้างวัดทองจรัญสนิทวงศ์ 46 เขตบางพลัด 

(13 ก.ย.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางพลัด ประกอบด้วย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเมย์ฟิลด์ ปิ่นเกล้า (Mayfield Pinklao) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างทาวน์โฮม 4 ชั้น และทาวน์โฮม 3.5 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ปรับปรุงความสูงของรั้วโดยรอบให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร จากเดิมมีความสูง 3 เมตร ควรต่อเติมความสูงเพิ่มขึ้นอีก 3 เมตร รวมถึงติดตั้งผ้าใบกันฝุ่นให้ครอบคลุมตัวอาคารที่กำลังก่อสร้างทั้งหมด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 23 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทถมดินท่าทราย 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พื้นที่ 7 ไร่ มีบุคลากร 220 คน นักศึกษา 1,948 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เข้าร่วมโครงการไม่เทรวม โดยเขตฯ สนับสนุนถังรองรับขยะอินทรีย์ตั้งวางบริเวณโรงอาหาร เพื่อรองรับการคัดแยกอาหารที่เหลือจากการรับประทาน และวัตถุดิบในการเรียนการสอนโรงเรียนการเรือน เขตฯ จัดเก็บส่งโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกรีไซเคิลบริเวณอาคารต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เก็บรวบรวมไปขาย จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ให้บุคลากร และนักศึกษา ผ่านคณะทำงานสร้างจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาเรียนและพันธกิจของแต่ละคณะ โครงการลดขยะพลาสติกด้วยแอปพลิเคชัน ECO LIFE โดยความร่วมมือกับบริษัท คิดคิด จำกัด ในการลดขยะพลาสติกแบบครั้งเดียว ทั้งในร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งร้านอื่นๆ และโรงอาหารของมหาวิทยาลัย โครงการทิ้ง E-WASTE เท่ากับปลูก ร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว ระหว่างบริษัท เอไอเอส จำกัด กรุงเทพมหานคร และเขตพญาไท ร่วมจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี (ส่งมอบให้โครงการไปแล้ว 281 ชิ้น ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคม 2567) โครงการพลาสติกแบงค์ (Plastic bank) รับบริจาคขยะพลาสติกชนิดอ่อนและชนิดแข็ง เพื่อส่งต่อไปใช้ประโยชน์ ภายใต้แนวคิด Circular Living ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2564 มีสมาชิก 123 USERS เปิดรับบริจาคมาแล้ว 90 ครั้ง มีปริมาณพลาสติกรวม 4,161.3 กิโลกรัม โครงการ Green university ทิ้งเทิร์นให้โลกจำ Upvel 2 โดยร่วมกับบริษัท พีทีที โกเบิ้ลเคมีคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขันรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกใช้แล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี พร้อมชิงทุนการศึกษาและโล่รางวัล ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไป บริเวณชั้นต่างๆ ของอาคารเรียนในแต่ละคณะ และจุดตั้งรองรับขยะทุกประเภทด้านหน้าอาคารที่พักศูนย์วิทยาศาสตร์ และจุดพักขยะด้านหลังอาคารโรงปฏิบัติการอาหารนานาชาติ เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 4.ขยะอันตราย แยกใส่ถังขยะสีแดง เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนและหลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์อยู่ระหว่างทดลองจัดเก็บ ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน 

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณวัดภคินีนาถ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 60 ราย ได้แก่ 1.บริเวณสะพานพระราม 8 ตั้งแต่ซอยอรุณอมรินทร์ 53 ถึงซอยอรุณอมรินทร์ 57 รวมผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 38 ราย 2.หน้าวัดภคินีนาถ ตั้งแต่จุดกลับรถสะพานกรุงธน ถึงซอยราชวิถี 21 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ผู้ค้า 6 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 2.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ผู้ค้า 3 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ส่วนหน้าตลาดกรุงธน ผู้ค้า 11 ราย ได้ย้ายเข้าไปทำการค้าในพื้นที่เอกชนทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ 

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณข้างวัดทอง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ซึ่งเจ้าของที่ดินได้มอบให้วัดทองใช้ประโยชน์ทำที่จอดรถ แปลงเกษตร และศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการขยะ โดยเขตฯ มีแนวคิดในการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ ประเภทเพื่อการศึกษาเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ สวนเกษตรคนเมือง จัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบ่อบัว (ทางกลับรถต่างระดับถนนสิรินธร-ถนนบรมราชชนนี) พื้นที่ 3 งาน 3 ตารางวา 2.สวนหย่อมข้างโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก พื้นที่ 3 งาน 10 ตารางวา 3.สวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 วัดบวรมงคล ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (สวนหย่อมวัดบวรมงคล) พื้นที่ 3 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.ที่ว่างริมถนนสิรินธร หน้าแขวงทางหลวงธนบุรี พื้นที่ 1 งาน 38 ตารางวา 2.ที่ว่างริมถนนบรมราชชนนี หน้าร้านสยามชัย ปากซอยรุ่งประชา พื้นที่ 3 งาน 6 ตารางวา 3.สวนริมถนนราชวิถี ติดร้านขนาบน้ำ (สวนยินดี) พื้นที่ 57.5 ตารางวา 4.ที่ว่างริมถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ พื้นที่ 1ไร่ 5.ที่ว่างข้างวัดทอง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 พื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการจัดทำสวน 15 นาที คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง 

ในการนี้มี พ.ต.อ.ภิญโญ ป้อมสถิตย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล