EDU Research & ESG

มทร.ล้านนาตั้งเป้าผลิตนักวิจัยหน้าใหม่ หวังของบวิจัยเพิ่ม30-40%



เชียงใหม่-รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เปิดเผยว่ามทร.ล้านนาให้ความสำคัญในการสนับสนุน และส่งเสริมให้คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ทำวิจัยด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนากำลังตามความต้องการของประเทศสอดคล้องกับความเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มสอง  งานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเป็นไปตามแผนปฏิรูปความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย “ครีเอทีฟล้านนา” ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้มีการแบ่งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA ถูกกำหนดไว้ 4 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน

“มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาครัฐปีละ 50-60 ล้านบาท จากงบประมาณรายได้ทั้งหมด 400-600 ล้านบาท หรือ 10% ของรายได้มหาวิทยาลัย ซึ่งงบประมาณดังกล่าว มทร.ล้านนาคาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 30-40% แต่การจะทำให้งบวิจัยเพิ่มขึ้นได้นั้น จะต้องมีการส่งเสริมและสร้างนักวิจัยหน้าใหม่เพิ่มขึ้นซึ่งนี่เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของมทร.ล้านนา ในการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ และส่งเสริมให้อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยทำงานวิจับร่วมกับผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะนอกจากงบประมาณจากภาครัฐ กองทุนวิจัยแล้ว ส่วนหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ SME ร่วมด้วย”รักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าว

รศ.ดร.อุเทน กล่าวต่อว่าการทำงานวิจัยของนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย จะต้องคำนึงถึง 2 ประเด็นหลัก คือ วิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เรื่องอะไร และใครที่จะได้ผลประโยชน์จาองานวิจัยดังกล่าว นั่นคือ แผนงานวิจัย ต้องทำให้เห็นชัดเจนว่ามีผู้ใช้หรือไม่ และต้องรู้ว่าใครจะเอาไปใช้ประโยชน์ เช่น งานด้านวิศวกรรมของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนในการจัดทำเสื้อทำกระสุน เวลาเขียนแผนงานวิจัยจะมีเป้าหมายชัดเจน และมีการทำ IP Plan รวมถึงการใช้เครื่องมือในการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (IP Tools) เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากงานวิจัย ต้องได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์นักวิจัย หรือบริษัทที่เข้ามาสนับสนุน ร่วมมือในการทำงานวิจัย และนำไปใช้ได้จริงในท้องตลาด ดังนั้น งานวิจัยของมทร.ล้านนา จะมีเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเกษตร ภาคบริการ Arts Design & Architecture  เป็นต้น เป็นการสนับสนุนงานวิจัยของทั้งครูอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยในแต่ละคณะ

รักษาการอธิการบดีมทร.ล้านนา กล่าวต่อว่า นอกจากส่งเสริมให้อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยทำวิจัยแล้ว ยังสนับสนุนให้เป็นสตาร์ทอัปร่วมด้วย ซึ่งอาจารย์ และนักศึกษาต้องสร้างธุรกิจ เพื่อที่จะทำให้พวกเขามีอาชีพ มีรายได้ เกิดการลงทุนกับนักลงทุนที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย เป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกการทำงาน ฉะนั้น นักศึกษาและอาจารย์ที่ทำงานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ นักลงทุนจะต้องออกไปนำเสนองาน และเกิดการทำสัญญาร่วมกัน พัฒนาจากงานวิจัยกลายเป็นโปรดักส์ที่จำหน่ายได้จริงๆ

“การลงทุนงานวิจัยมีการกำหนดในการดำเนินการไม่เกิน 8-9 เดือน การทำสตาร์ทอัปใน1 โปรดักส์ จะต้องมีการฝึกอบรม สัมมนา ให้ความรู้ และต้องมีความชัดเจนว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นสามารถนำไปสู่โปรดักส์หรือขายได้ รวมถึงการสร้างเชื่อมโยงกับ SMEs ภาคเหนือให้ปรับเปลี่ยนจากธุรกิจเดิมสู่การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้มีการรวบรวม พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ งานวิจัยที่สามารถสร้างรายได้ และสร้างงานให้แก่อาจารย์ นักศึกษา สตาร์ทอัป และชุมชนได้มากขึ้น” รศ.ดร.อุเทน กล่าว