Travel Sport & Soft Power

นทท.สายบุญยโสธรไหว้พระเมืองศรี4วัด 'บ้านด่าน-ละทาย-โนนเกด-ไตรสามัคคี'



ศรีสะเกษ-คณะผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากจังหวัดยโสธรไหว้พระเมืองศรี ของดี 4 วัด ท่องเที่ยววัดบ้านด่าน ท่องเที่ยวชุมชนบ้านละทาย วัดบ้านโนนแกด และวัดไตรสามัคคี 

เมื่อวันที่ 17 กันยายน  2567 ที่วัดบ้านด่าน  ตำบลสร้างปี่ อำเภอราศีไศล  จังหวัดศรีสะเกษ  นางวาสิตา น้อยพรหม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ  ได้เป็นประธานเปิดโครงการไหว้พระเมืองศรี ของดี 4 วัด จังหวัดศรีสะเกษ  โดยมีนายทอง คำเยี่ยม  มรรคทายกวัดบ้านด่าน   นำพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดยโสธรจำนวนกว่า 200 คน  เข้าร่วมกิจกรรม  ทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10  เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ  เพื่อเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชุมชนต่อไป

 

นางวาสิตา น้อยพรหม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ   กล่าวว่า ได้จัดทำโครงการถนนสายวัฒนธรรม ไหว้พระเมืองศรี ของดี 4 วัด และได้รับการตอบรับจากพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดยโสธรเป็นอย่างดี  ซึ่งในวันนี้ได้นำคณะผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากจังหวัดยโสธรประมาณ 200 คน ไหว้พระเมืองศรี ของดี 4 วัด ที่วัดบ้านด่าน ท่องเที่ยวชุมชนบ้านละทาย วัดบ้านโนนแกด และวัดไตรสามัคคี จังหวัดศรีสะเกษ

นายทอง คำเยี่ยม  มรรคทายกวัดบ้านด่าน กล่าวว่า หลวงพ่อทองเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร หรือปางห้ามญาติ อัญเชิญมาจากกรุงเทพมหานคร มาประดิษฐานที่วัดบ้านด่าน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2495 พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เคยถูกโจรกรรมไปถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถนำท่านไปได้ ชาวบ้านด่านตามหาจนพบและนำกลับมาประดิษฐานที่วัดบ้านด่านเช่นเดิมทุกครั้ง ทำให้กิตติศัพท์และเมตตาบารมีของหลวงพ่อทองขจรขจายเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง และเพื่อป้องกันการโจรกรรม ชาวบ้านด่านจึงได้ทำกรงเหล็ก นำหลวงพ่อทองไปประดิษฐานไว้ตั้งแต่นั้นมา ต่อมา นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง ลูกหลานชาวบ้านด่านที่ไปประกอบสัมมาชีพที่กรุงเทพมหานคร ได้กลับมาอธิษฐานขอเมตตาบารมีจากหลวงพ่อทองว่า ถ้าทำมาค้าขาย ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง จะกลับมาสร้างวิหาร เพื่อนำหลวงพ่อทองออกจากกรง คำอธิษฐานเป็นจริงดังตั้งใจ ดังนั้นในปี พ.ศ.2553 นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง จึงได้รวบรวมปัจจัยมาตั้งต้นก่อสร้างวิหาร พร้อมทั้งได้รับแรงศรัทธาจากญาติมิตรและพุทธศาสนิกชน ร่วมสมทบทุนก่อสร้างวิหารหลวงพ่อทองอย่างต่อเนื่อง และเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.2566 จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นประดิษฐานไว้บนวิหารหลวงพ่อทองต่อไป

ข่าว/ภาพ ... บุญทัน-ปฐมพงษ์  ธุศรีวรรณ   ศรีสะเกษ