In Bangkok

จตุจักรสั่งคุมเข้มลักทิ้งขยะในพื้นที่รกร้าง ลุยสำรวจสวนริมคลองเปรมฯ



กรุงเทพฯ-จตุจักรคุมเข้มพื้นที่รกร้างลักลอบทิ้งขยะ ติดตามการใช้จ่ายงบฯ วางท่อระบายน้ำวิภาวดี 17 สร้างบ่อสูบน้ำหมู่บ้านซีเมนต์ไทยรัชดาฯ 52 ปรับปรุงซอยงามวงศ์วาน 59 สำรวจสวนริมคลองเปรมฯ ชมคัดแยกขยะศูนย์อาหารศาลอาญา

(17 ก.ย.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจตุจักร ประกอบด้วย

ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยรัชดาภิเษก 36 แยก 19-3 ซึ่งเป็นจุดที่เขตฯ ได้รับการร้องเรียนเรื่องการลักลอบทิ้งขยะ จากการสำรวจในพื้นที่พบว่าเขตฯ มีจุดที่เป็นพื้นที่รกร้างและมีการลักลอบทิ้งขยะ จำนวน 21 จุด สำหรับแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับอาคารทิ้งร้างและที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง หรือจุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย เศษวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสำนักเทศกิจได้มีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตดำเนินการตามข้อกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 4.ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 5.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 6.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 7.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พัฒนาทำความสะอาดจัดเก็บขยะให้เรียบร้อย ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ สืบหาเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด รวมถึงให้ฝ่ายรายได้สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าให้จัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด นอกจากนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่เป็นประจำ ป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว 

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำ ซอยวิภาวดีรังสิต 17 ถึงท้ายซอย เริ่มต้นสัญญาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 180 วัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ท่อระบายน้ำเดิมมีขนาดเล็ก เมื่อฝนตกหนักจึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเขตฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักและวางท่อระบายน้ำใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวเกิดความล่าช้า เนื่องจากมีท่อประปาอยู่ตามแนวที่ขุดวางท่อระบายน้ำ ปัจจุบันการประปานครหลวงได้ดำเนินการบายพาสท่อประปาเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ส่วนบ่อสายสื่อสารของ NT อยู่ระหว่างดำเนินการเคลื่อนย้าย ซึ่งผู้รับจ้างยืนยันว่าเนื้องานในส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 

จากนั้นติดตามโครงการก่อสร้างบ่อสูบน้ำหมู่บ้านซีเมนต์ไทย บริเวณซอยรัชดาภิเษก 52 เริ่มต้นสัญญาวันที่ 16 มีนาคม 2567 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 11 กันยายน 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 180 วัน ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เนื่องจากติดปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ การย้ายเสาไฟฟ้าสาธารณะ การย้ายจุดติดตั้งกล้อง CCTV การล้อมย้ายต้นไม้ และติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการปรับปรุงซอยงามวงศ์วาน 59 จากถนนงามวงศ์วาน ถึงคลองเปรมประชากร เริ่มต้นสัญญาวันที่ 30 สิงหาคม 2566 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 440 วัน ซึ่งโครงการดังกล่าวติดปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ การย้ายเสาไฟฟ้าสาธารณะด้านหน้าวัดเทวสุนทร จำนวน 3 ต้น การย้ายเสาพาดสายสื่อสารของ NT จำนวน 2 ต้น 

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้รับจ้างและเขตฯ จัดทำแผนงานในส่วนที่เหลือให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้เขตฯ ประสานสำนักการโยธา การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง NT และผู้รับจ้าง นัดประชุมหารือร่วมกันในสัปดาห์หน้า เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามแผนงานที่ปรับใหม่ เร่งรัดการทำงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามสัญญา เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเบิกจ่ายได้ตามปีงบประมาณที่กำหนดไว้

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณริมคลองเปรมประชากร เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ พื้นที่ 300 ตารางวา ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาทำความสะอาด จัดเก็บวัชพืชและกิ่งไม้แห้ง ปรับปรุงภูมิทัศน์ ออกแบบพื้นที่ภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนวิภาภิรมย์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมธนารักษ์ 2.สวนป่าประชานุกูล พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษฯ 3.สวนป่าสัก พื้นที่ 3 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมธนารักษ์ 4.สวนริมคลองบางเขน พื้นที่ 14 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่ลานจอดรถใต้สะพานรัชวิภา พื้นที่ 24 ตารางวา 2.พื้นที่ส่วนกลางชุมชนเคหะเรือนแถว พื้นที่ 37.5 ตารางวา 3.พื้นที่ส่วนกลางชุมชนประชาร่วมใจ 2 พื้นที่ 50 ตารางวา สำหรับสวน 15 นาที เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ บำรุงรักษาสวน 15 นาที ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ให้มีความสวยงามและร่มรื่นในระยะยาว รวมถึงพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวนใหม่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์อาหารอาคารลานจอดรถศาลอาญา พื้นที่ 2 ไร่ ร้านค้า 50 ร้าน ผู้ใช้บริการ 2,000 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะตามโครงการไม่เทรวม Zeroweste 2.ขยะรีไซเคิล รับซื้อขยะรีไซเคิลให้กับผู้ประกอบการ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนและหลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/วัน

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจตุจักร สำนักการโยธา ผู้แทนการประปานครหลวง ผู้แทนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ผู้รับจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล