In Bangkok
กทม.ยิ้ม!นิด้ายันคนกรุงเชื่อกทม.เอาอยู่ 'น้ำไม่ท่วม'เฝ้าระวังฝนตกตลอด24ชม.
กรุงเทพฯ-กทม.ได้ใจนิด้าโพล ยิ้มยินดี ประชาชนมั่นใจมาตรการป้องกันน้ำท่วม ย้ำไม่ทอดทิ้ง พร้อมดูแลใกล้ชิดตลอดฤดูฝนปี 67
(23 ก.ย. 67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผย กรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยการสำรวจของประชาชน เรื่อง "ปี 67 คนกรุงกลัวน้ำท่วมหรือไม่" พบว่า 33.82% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าค่อนข้างกังวล รองลงมา 27.79% ไม่กังวลเลย 42.14% ระบุว่าค่อนข้างพึงพอใจต่อการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในช่วงฤดูฝนนี้ และ 37.25% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่นต่อการป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร นั้น กรุงเทพมหานครขอบคุณนิด้าโพลที่ได้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครขอน้อมรับเพื่อนำมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อคลายความกังวลและสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันน้ำท่วมของกทม.ให้มากยิ่งขึ้นด้วย
โฆษกของ กทม. กล่าวด้วยว่า ในปี 2567 นี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ฝนตกหนัก โดยติดตามข้อมูลสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เมื่อมีรายงานว่าจะมีฝนตกหนักในประเทศไทยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ กรุงเทพมหานครก็สามารถดำเนินการตามแผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่กำหนดไว้ได้ทันที โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้สำนักการระบายน้ำและเขตพื้นที่ทั้ง 50 เขต ติดตามแก้ไขปัญหากรณีน้ำท่วมขัง พร้อมทั้งดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งลดระดับน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ถนนสายหลัก สายรอง ตรอกซอกซอยต่าง ๆ ให้เร็วที่สุด พร้อมจัดรถบริการเข้าซอยถึงบ้านกรณีน้ำในซอยท่วมสูง และช่วยเหลือแก้ไขกรณีรถดับขณะลุยน้ำ สร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนว่า กทม. ไม่ทอดทิ้ง
สำหรับแผนการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ประกอบด้วยการควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแก้มลิงจำนวน 36 แห่ง และบ่อสูบน้ำจำนวน 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย การเตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงการแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ
รวมทั้งเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตกเพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของสำนักการระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขตให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถ Mobile Unit เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่หน่วย Best เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนี้ มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 625/2567 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยให้จัดตั้งขึ้น ณ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วมหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา รวมถึงให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตสำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาในทันที
ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วยการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งประสานงานและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้กรุงเทพมหานครทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้างเพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ต่อไป
นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบระบายน้ำคูน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อีกทั้งยังได้มีการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยมีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และการประชุมติดตามสถานการณ์กับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ปี 67 คนกรุงกลัวน้ำท่วมหรือไม่" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 ก.ย. 67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยสอบถามจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉืองเหนือที่ผ่านมาประชาชนมีความกังวลว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ พบว่า 33.82% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าค่อนข้างกังวล รองลงมา 27.79% ไม่กังวลเลย 21.06% ไม่ค่อยกังวล และ 17.33% ระบุว่ากังวลมาก
ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการระบายน้ำของกรุงเทพมหามหานครในช่วงฤดูฝนนี้ พบว่า 42.14% ระบุว่าค่อนข้างพึงพอใจ รองลงมา 28.09% ไม่ค่อยพึงพอใจ 17.79% พึงพอใจมาก 10.38% ไม่พึงพอใจเลย และ 1.60% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ เมื่อถามความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร พบว่า 37.25% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น รองลงมา 32.29% ไม่ค่อยเชื่อมั่น 15.65% ไม่เชื่อมั่นเลย 14.05% เชื่อมั่นมาก และ 0.76% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ