Authority & Harm

ปธ.ศาลฎีกาแถลงผลการดำเนินงานตาม นโยบายในภารกิจประจำปีงบฯ2567



“นางอโนชา ชีวิตโสภณ” ประธานศาลฎีกาแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายประธานศาลฎีกาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

วันนี้ (25 กันยายน 2567) เวลา 09.00 น.นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกาคนที่ 49 แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายประธานศาลฎีกา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2567 ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ภายใต้นโยบาย “ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก” ดังนี้

นโยบายข้อ 1 “ที่พึ่ง”ส่งเสริมการระงับข้อพิพาททางเลือก ได้แก่ การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง มีคดีที่เข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง จำนวน 61,556 คดี ทุนทรัพย์ 7,258,268,720 บาท (ข้อมูลสถิติคดีฯ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 สิงหาคม 2567) การใช้อนุญาโตตุลาการในศาล โดยกำหนดศาลที่มีความพร้อม 5 ศาล ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และศาลแขวงสมุทรปราการ และจัดทำคู่มือเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลดำเนินการในศาลอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น ได้จัดให้มีศาลนอกเวลาเพื่อประชาชน สำหรับกลุ่มศาลแพ่งในกรุงเทพมหานครและศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รวม 7 ศาล ดังนั้นประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาการจราจรและการลางาน

นโยบายข้อ 2 “เที่ยงธรรม”ออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาของศาลชั้นต้น พ.ศ. 2567 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูงหรือคดีอาญาสำคัญอย่างรอบคอบ และคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2567 มุ่งให้ผู้เสพฯ ได้รับการบำบัด ฟื้นฟู อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ

ทั้งยังมีการจัดตั้งแผนกคดียาเสพติดในศาลฎีกา แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา แผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง และศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เพื่ออำนวยความยุติธรรมและบริหารจัดการคดีประเภทต่างๆ ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของการดูแลสมดุลในการทำงานของบุคลากรได้แก้ไขกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่างๆ ในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่บุคลากร ตลอดจนเปิดคลินิกหน่วยแพทย์สาขาย่อย 3 แห่งในกรุงเทพมหานคร

นโยบายข้อ 3 “เท่าเทียม”เสนอร่างกฎหมายกำหนดตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวภาค ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญและปฏิบัติงานด้านคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว พ.ศ. 2567 ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงออกระเบียบการจัดทำบัญชีรายชื่อและการแต่งตั้งทนายความ เพื่อให้ศาลสามารถแต่งตั้งทนายความที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่เหมาะสมกับประเภทคดี ให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ไม่อาจจัดหาทนายความเองได้

นโยบายข้อ 4 “ทันโลก”พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของศาลยุติธรรม เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างศาลยุติธรรมกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ พัฒนาระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 4 (e-Filing Version 4) ระบบการยื่นคำร้องคดีคุ้มครองสวัสดิภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น พร้อมทั้งทำการศึกษาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเพิ่มหลักการสำคัญเกี่ยวกับพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ยังมีการออกระเบียบเพื่อจัดให้มีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในทันทีที่คดีเสร็จการพิจารณาและเผยแพร่คำพิพากษาของศาลฎีกาแก่ข้าราชการตุลาการในรูปแบบ E-bookตลอดจนสนับสนุนให้บุคลากรในศาลยุติธรรมได้รับการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ผ่านการอบรม ศึกษาดูงานจากสถาบันการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ