Travel Sport & Soft Power

'นฤมิตไพรด์'จัดฉลอง'รักแท้ที่เท่าเทียม' จัด1,448คู่แต่งงาน22ม.ค.68แน่นอน



กรุงเทพฯ, ประเทศไทย - วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIAN+  ในประเทศไทย หลังมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือการรับรองการสมรสที่ไม่จำกัดเพียงแค่ ชายและหญิง แต่มีการเปลี่ยนแปลงให้บุคคลสองคนในทุกเพศสภาพสามารถแต่งงานและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่กฎหมายยอมรับสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวของทุกคน ที่มีความประสงค์ในการจัดตั้งครอบครัว โดยนับจากวันที่มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ 120 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2568  เป็นต้นไป ที่จะเป็นวันแรก ที่คู่รัก LGBTQIAN+  สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สมการรอคอยมากว่า 20 ปี “นฤมิตไพรด์” ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) อย่างยิ่งใหญ่และต่อเนื่องมา 3 ปี พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม พร้อมจัดกระหึ่มงาน “แต่งงาน คู่รัก LGBTQIAN+” และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 1,448 คู่ ให้ทุกคนร่วม Celebration of Love โบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้ง ประกาศชัยชนะวันแห่งประวัติศาสตร์ของ LGBTQIAN+ ฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ

โดยครั้งนี้อยากเชิญชวนคู่รัก LGBTQIAN+ ทุกคู่ที่มีเจตจำนงค์ในการแต่งงาน และจดทะเบียนสมรสวันแรก 22 มกราคม 2568 ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ร่วมลงชื่อในแบบฟอร์มรับสมัครคู่รักสมรสเท่าเทียม ในเพจ บางกอก ไพรด์ ผ่านแบบฟอร์ม https://www.support1448.org/lovewins/ เพื่อร่วมสร้างประวัติศาสตร์จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมหมู่ครั้งแรกของประเทศไทยไปด้วยกัน

วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) และกรรมาธิการสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน กล่าวว่า “วันนี้เราไม่ได้แค่จดทะเบียน แต่เรากำลังจดประวัติศาสตร์ ที่บอกว่า ‘รัก’ ไม่เคยมีเงื่อนไขว่าเราควรเกิดมาเป็นใคร เพศสภาพใด ในวันที่กฎหมายยอมรับความรักของพวกเรา LGBTQIAN+ มันคือชัยชนะที่มากกว่าแค่คู่สมรส มันคือชัยชนะของความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นคน เราเชื่อว่าจะมีคู่รัก LGBTQIAN+ มากกว่า 1,448 คู่ มาร่วมเฉลิมฉลองและร่วมปักหมุดสร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทยกับนฤมิตไพรด์นะคะ”

สำหรับที่มาว่า ทำไมจะต้องจัดงาน “แต่งงาน คู่รัก LGBTQIAN+” และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 1,448 คู่เพราะปี พ.ศ.2566 เกิดการรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหว ใช้คำสำคัญว่า "1448 for all"  เพื่อสะท้อนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 และเกิดคำว่า “สมรสเท่าเทียม/1448 for all ครั้งแรก” ในงาน Chiang Mai Pride 2019  จากเครือข่ายคนไร้บ้านที่เข้าร่วม โดยในขบวนไพรด์พาเหรดนี้ มีการถามเกี่ยวกับคำว่า "Marriage Equality" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "สมรสเท่าเทียม"  เป็นคำสั้นๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเรียกร้องการแต่งงานเพื่อความเท่าเทียม

“การเตรียมงานแต่งงาน คู่รัก LGBTQIAN+ และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 1,448 คู่ นฤมิตไพรด์ได้จัดเตรียมงานไปมากกว่า 50% แล้ว และขณะนี้มีคู่รัก LGBTQIAN+ สมัครเข้ามาเรื่อยๆ และต่อเนื่องกว่า 183 คู่แล้ว ซึ่งการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ประเทศไทยครั้งนี้นฤมิตไพรด์ มีเป้าหมายจัดงาน “แต่งงาน คู่รัก LGBTQIAN+” และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย” วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร กล่าวทิ้งท้าย