Health & Beauty

ศูนย์โรคหัวใจรพ.จุฬาฯและแพทยจุฬาฯ เปิดนวัตกรรมรักษาลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ



กรุงเทพฯ- (25 กันยายน 2567) ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MDCU MedUMoreคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันสนับสนุนการเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์และถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ MedUMoreหลักสูตรนวัตกรรมการรักษา TAVI(Transcatheter Aortic Valve Implantation)หรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดหลักสูตรแรกของประเทศไทย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ เปิดเผยว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากสิงคโปร์นอกจากนี้โรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันผู้สูงอายุชาวไทยกว่า 400,000 คนอาจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้ เป็นช่วงเวลาของ"วันหัวใจโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เปิดตัวโครงการ "นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคต เปิดทางสู่ความเป็นเลิศในการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ"ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับการบริการทางการแพทย์และการศึกษา เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ป่วยและสังคม

รศ.นพ.ฉันชายกล่าวว่า การพัฒนาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสนับสนุนทีมงานที่มีความหลากหลายเป็นส่วนสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้การรักษามีความแม่นยำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยเฉพาะในกรณีการรักษาโรคที่ซับซ้อน อย่างการรักษาภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

 ในส่วนของแพลตฟอร์ม MedUMoreTAVIที่เรานำเสนอในวันนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด เสริมสร้างความเชี่ยวชาญและการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นอีกช่องทางการสื่อสารที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและดูแลสุขภาพหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาการแพทย์ของประเทศไทย ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโรคหัวใจในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเราไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ความสำเร็จในด้านการแพทย์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างสังคมที่แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เพราะการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม และเรามุ่งมั่นที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เป้าหมายนี้เป็นจริง”รศ.นพ.ฉันชายกล่าว

ด้านรศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ  หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าอุบัติการณ์ของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้โรคนี้เป็นปัญหาสำคัญที่เราทุกคนอาจต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมักเกิดขึ้นจากการสึกหรอของลิ้นหัวใจตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอุบัติการณ์สูงถึง 12.4% และ3.4%ของกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดขั้นรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตได้ในระยะเวลา 2-5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเพียง 47% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องร่วมกันแก้ไข ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจึงมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีผ่านการสร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยการศึกษาและการเรียนรู้ที่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์อย่างรวดเร็วนวัตกรรมการรักษาโรคหัวใจ อย่าง TAVI เป็นตัวอย่างของการรักษาที่ซับซ้อนและต้องการความร่วมมือจากทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา การพัฒนาบทเรียนออนไลน์ TAVIหลักสูตรแรกของประเทศไทยร่วมกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ MedUMoreคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์ เพื่อให้เราสามารถนำเสนอการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย เพราะความสำเร็จของการรักษาโรคลิ้นหัวใจตีบไม่ได้ขึ้นอยู่กับนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการสร้างระบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและครอบคลุม นำพาเราไปสู่การรักษาที่มีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาว

ด้านผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนฝ่ายบริการวิชาการ ผู้ดูแลแพลตฟอร์ม MedUMore กล่าวว่า ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปีของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ MDCU MedUMORE”ซึ่งปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้อันดับ 1 ของประเทศไทยด้านการแพทย์ ที่มีการรับชมไปมากกว่า 2,000,000 viewsแล้ว โดยแพลตฟอร์ม MedUMoreได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยและครอบคลุมทั้งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป จุดเด่นของ MedUMoreคือการนำเสนอหลักสูตรที่หลากหลายและเน้นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการแพทย์ที่มีความซับซ้อนและต้องการการฝึกฝนเป็นพิเศษอย่างหลักสูตรการรักษาลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบด้วยวิธี TAVI ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจตีบ นอกจากนี้ยังมีการสร้างพันธมิตรกับองค์กรภายในและภายนอก อย่างศูนย์โรคหัวใจ และบริษัท เมดโทรนิค ช่วยให้เราสามารถนำเสนอเนื้อหาบทเรียนการทำหัตถการที่มีความซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้แก่นิสิตและบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน อ.ดร.นพ.วศิน พุทธารี ผู้ริเริ่มโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบโดยไม่ต้องผ่าตัด และผู้รับผิดชอบหลักสูตร TAVI สำหรับ MedUMoreคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการฝึกอบรมทีมแพทย์ในการทำหัตถการ TAVI คือความซับซ้อนของการทำหัตถการนี้เอง TAVI เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางที่หลากหลาย ซึ่งหมายความว่าทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมกันทำหัตถการนี้ต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งและมีประสบการณ์เพียงพอ การฝึกอบรมไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ทฤษฎี แต่ยังต้องมีการฝึกปฏิบัติจริงและทบทวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจุดนี้ การที่เราร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับการทำหัตถการ TAVI และนำเสนอภายใต้ แพลตฟอร์ม MedUMoreเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เพราะไม่เพียงแค่ให้ความรู้ที่ครอบคลุมในทุกด้านของการทำ TAVI ผ่านผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ที่สำคัญหลักสูตร TAVI ในแพลตฟอร์ม MedUMoreยังเป็นหลักสูตรออนไลน์ TAVI หลักสูตรแรกของประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการฝึกอบรม เพื่อให้แพทย์จากทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงความรู้และการฝึกฝนที่ทันสมัยได้เปิดโอกาสให้แพทย์ได้เห็นและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง 3D simulation ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้แพทย์สามารถทบทวนการฝึกปฏิบัติเสมือนจริง ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการทำหัตถการให้กับผู้เข้าเรียน

นอกจากความท้าทายด้านการฝึกอบรมทีมแพทย์แล้ว การเข้าถึงการรักษาด้วยวิธี TAVI สำหรับประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการสังเกตอาการของตนเอง และยังไม่ค่อยรู้จักการรักษาด้วยวิธีTAVI ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที แพลตฟอร์ม MedUMore TAVI จึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนผ่านการเสวนาด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อประชาชนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ TAVI จะทำให้สามารถสังเกตอาการและตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ภญ. สุชาดา ธนาวิบูลเศรษฐผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ของประเทศในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราเชื่อว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการแพทย์ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายฝ่าย ทั้งจากภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม

สำหรับการทำหัตถการ TAVI นวัตกรรมการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยง ฟื้นตัวเร็ว และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดแบบดั้งเดิมเนื่องจากเป็นหัตถการที่ซับซ้อนและต้องการการทำงานเป็นทีมของหลายฝ่าย จึงเป็นความ

ท้าทายสำคัญที่บริษัท เมดโทรนิคได้ให้ความสำคัญตลอดมา บริษัท เมดโทรนิคร่วมกับสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของประเทศ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาโรงพยาบาลในทุกภูมิภาคของไทย และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียทั้งด้านการพัฒนาความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาผ่านโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้บริการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานระดับเดียวกับสากล สำหรับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนMedUMore TAVI นี้เราได้ทำงานร่วมกับศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่เราได้ลงนามร่วมกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ MedUMore ไม่เพียงแค่ในแง่ของการสนับสนุนการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั่วไปด้วยการร่วมมือกันในครังนี้ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญที่สำคัญระหว่างกัน ทำให้การพัฒนาหลักสูตรมีความครบถ้วนและทันสมัยช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการทำหัตถการ TAVI ซึ่งส่งผลดีต่อการยกระดับมาตรฐานการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาวอย่างแท้จริง"

ด้านคุณนิรุตติ์ ศิริจรรยานักแสดงอาวุโส ผู้แทนในส่วนของภาคประชาชน ในฐานะที่ผมเป็นประชาชนที่ได้เสวนากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านแล้วผมมองว่าโรคลิ้นหัวใจเออร์ติกตีบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและอาจมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นการที่ประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้และเข้าใจวิธีการรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้พวกเราสามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการรักษาด้วยวิธี TAVI ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ มีประสิทธิภาพสูง ให้ผลการรักษาที่ดีในระยะยาว ถือเป็นนวัตกรรมการรักษาสำหรับผู้สูงอายุ คืนชีวิตที่มีคุณภาพ ลูกหลานมีความสุข

ในช่วงสุดท้ายของงานแถลงข่าว ทีมศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำโดยรศ.นพ. สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์,พญ. ศิริพร อธิสกุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด, นพ. ชนาพงษ์ กิตยารักษ์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดหัวใจและทรวงอกและนพ. วรฤทธิ์ เลิศสุวรรณเสรี แพทย์ผู้ชำนาญการสวนหัวใจและหลอดเลือดได้นำเสนอศักยภาพของการให้บริการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบอย่างรุนแรง ในฐานะศูนย์กลางการรักษาโรคหัวใจที่มีศักยภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในประเทศศูนย์โรคหัวใจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้พัฒนาความพร้อมในรักษาคนไข้โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความหลากหลายและครบถ้วนทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจขั้นสูงอย่างการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเออร์ติกตีบผ่านสายสวน หรือ TAVI ที่ให้บริการมาแล้วเกือบ 15 ปี โดยมีผู้ป่วยกว่า 300 รายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ ที่ไม่เพียงแค่ลดความเสี่ยงและระยะเวลาการพักฟื้น แต่ยังช่วยคืนชีวิตที่มีคุณภาพให้กับผู้ป่วย ให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและยังขาดทุนทรัพย์ ให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงและได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ผ่านโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยไม่ต้องผ่าตัด(TAVI)ภายใต้โครงการนี้ศูนย์โรคหัวใจสามารถช่วยให้ผู้ป่วยจำนวน 30-40 รายต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 60% ของผู้ป่วยที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์ ที่สามารถได้รับการรักษาที่ดีที่สุด

ท่านสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลให้ผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบให้สามารถเข้าถึงบริการการรักษาได้ โดยการร่วมสมทบทุนผ่าน E-Donation บัญชี ฬ. จุฬา สะพานบุญ หรือผ่านบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ฬ. จุฬา สะพานบุญ)เลขที่บัญชี 059-1-93894-0 โทรสอบถามเพิ่มเติมโทร 02-251-7804

“เพราะทุกๆ การให้ คือความงดงาม”