In Global

บทวิเคราะห์ ทำไมจึงพากันหลงมนต์เสน่ห์ ของทิเบต?



บทวิเคราะห์ ทำไมจึงพากันหลงมนต์เสน่ห์ของทิเบต?วันที่ 31 สิงหาคม - วันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปที่เมืองลาซ่า เมืองรื่อ คาเจ๋อและเขตอาหลีเพื่อร่วมกิจกรรมหัวข้อ “ปลูกจิตสำนึกให้ฝังรากลึก ประชาชาติจีนเป็นครอบครัวเดียวกัน” และ “ที่ราบหิมะโฉมใหม่”

ช่วงครึ่งเดือนที่อยู่ในพื้นที่ ผมได้ไปตระเวนสื่อข่าวที่โรงเรียน พื้นที่ชนบท ชุมชน วิสาหกิจ โรงงาน เป็นต้น ได้บันทึกและสัมผัสประสบการณ์ความก้าวหน้าของทิเบตภายใต้ยุทธศาสตร์การชี้นำของพรรคฯ ในการปกครองทิเบตยุคใหม่ ได้ดูความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ การสืบทอดวัฒนธรรม การอนุรักษ์ระบบนิเวศ นวัตกรรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความสามัคคีของชนเผ่า

เขตทิเบตที่ผมคุ้นเคย ทิเบตมี 7 เมืองและเขต ก่อนร่วมการสื่อข่าวครั้งนี้ ผมเคยไปทิเบตมาแล้ว 3 ครั้ง ไปท่องเมืองลาซา ซานหนาน หลินจือ น่าชวีและชางตู รวม 5 เมืองมาแล้ว ส่วนครั้งนี้ ได้ไปในเมืองและเขตที่ผมไม่เคยไปมาก่อน คือเมืองรื่อ คาเจ๋อ กับเขตอาหลี่

เมื่อพูดถึงเมืองรื่อ คาเจ๋อ สิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ ภูเขาเอเวอเรสต์ ภูเขาที่สูงที่สุดในโลก สูงเหนือระดับน้ำทะเล 8,848.86 เมตร ตั้งอยู่แนวชายแดนจีน-เนปาล วันที่ 4 กันยายน ผมเดินทางถึงเอเวอเรสต์เบสแคมป์ หรือ สถานที่ตั้งแคมป์เบื้องต้นที่เชิงเขาเอเวอเรสต์ โชคดีมากได้เห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ การส่องยอดเขาเอเวอเรสต์จากเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ทำให้ได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของภูเขาเอเวอเรสต์อย่างแท้จริง ทำให้สามารถจินตนาการได้ชัดว่า การปีนเขาเอเวอเรสต์นั้นยากลำบากขนาดไหน

วันที่ 5 กันยายน เมื่อบรรดาผู้สื่อข่าวนั่งรถยนต์ผ่านตำบลก่างก่า อำเภอติ้งรื่อ เขตปกครองตนเองทิเบต ได้เห็นเอเวอเรสต์ในอีกมุม โดยยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ดูสวยงามเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังเห็นภูเขาอีกหลายลูกของเทือกเขาหิมาลัยด้วย

หลายปีมานี้ ทิเบตให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของภูเขาเอเวอเรสต์เป็นอย่างมาก ช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม ค.ศ. 2024 มีการจัดเก็บขยะ 516.928 ตันออกจากบริเวณจุดชมวิวยอดเขาเอเวอเรสต์และตลอดเส้นทาง โดยรถที่นำพาผู้สื่อข่าวไปยังเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ก็เป็นรถพลังงานใหม่ เราเชื่อว่าความงามของยอดเขาเอเวอเรสต์จะคงอยู่ตลอดไป

นอกจากนี้ เมืองรื่อ คาเจ๋อยังสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกป่าเพื่อขจัดความยากจน ตำบลอ้ายหม่า อำเภอหนาน มู่หลิน เมืองรื่อ คาเจ๋อเคยมีที่ดินกลายเป็นทะเลทรายมากมาย เมื่อมีพายุลมแรง ฝุ่นละอองปกคลุมท้องฟ้า ไม่เพียงแต่กระทบการใช้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ แต่ยังทำลายระบบนิเวศอย่างหนัก

เมื่อปี 2014 ตำบลอ้ายหม่าปฏิบัติตามแนวคิดเขาเขียวน้ำใสก็คือ ภูเขาเงินภูเขาทอง เริ่มโครงการปลูกป่า ทำให้ช่วง  10 ปีมานี้ พายุทรายลดลง 1 ใน 3 ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ทางการท้องถิ่นรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกป่า ได้แก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ชาวบ้าน 60 คนมีงานทำในระยะยาวด้วยการร่วมการปลูกป่ามีรายได้วันละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท

เย็นวันที่ 7 กันยายน ผมนั่งรถจากเมืองรื่อ คาเจ๋อถึงเขตอาหลี่ อาหลี่อยู่ในทิเบตอยู่ไกลจากเมืองเอกลาซา ได้รับการขนานนามว่า “อาหลี่บนท้องฟ้า” เพราะความสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 4,500 เมตร โชคดีที่ร่างกายของผมไม่มีปฏิกิริยาใดๆเมื่ออยู่ในที่ราบสูง 

ความประทับใจแรกของผมต่อเขตอาหลี่คือ ความรกร้าง อาหลี่มีพื้นที่รวม 345,000 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรเพียง 110,000 คน เป็นสถานที่ที่ความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุดในโลก

เมื่อรถเข้าเขตอาหลี่ จะผ่านร้านเล็ก ๆ ป้ายที่หน้าประตูร้านเขียนว่า ข้างหน้า 100 กิโลเมตรเป็นดินแดนที่ไร้ผู้คน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งอำนวยความสะดวกในอาหลี่ไม่ได้ล้าหลัง สัญญาณ 4G คลอบคลุมทุกอำเภอในอาหลี่ ถนนที่ผมผ่านในการสื่อข่าวในอาหลี่ครั้งนี้ อยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,350 เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่ผมไม่เคยไปถึงมาก่อน ทำให้ผมตระหนักยิ่งขึ้นว่า การเดินทางของชาวท้องถิ่นในทิเบตมีความยากลำบากขนาดไหน การได้อยู่ใกล้กับฟ้ามากที่สุด อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้คนจึงโหยหาทิเบต

ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของอาหลี่อุดมสมบูรณ์มาก หมู่บ้านก่างซา อำเภอผู่หลาน ที่อยู่ในเขตอาหลี่ตั้งอยู่ตีนเขาไกรลาส หรือ ที่คนจีนเรียกภูเขากังเหรินโปฉี ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 6,656 เมตร เป็นจุดสูงสุดของเทือกเขากังตี่ซือ ในขณะเดียวกัน เขาไกรลาสยังเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ 4 สาย เนื่องจากทิวทัศน์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ เขาไกรลาสจึงดึงนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติให้มาท่องเที่ยวทุกปี ชาวบ้านหมู่บ้านก่างซาอาศัยทรัพยากรการท่องเที่ยวดังกล่าวพัฒนาธุรกิตการท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวสังเกตว่า ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเปิดโฮมสเตย์ เปิดบริการด้านการท่องเที่ยว จนพ้นจากความยากจนและบรรลุความมั่งคั่ง ในปี 2023 ชาวบ้าน 1,185 คนของทั้งหมู่บ้านได้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 10,400,000 หยวน หรือประมาณ 52,000,000 บาท

กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะถ่ายทำรายการ “มองจีนหลากมุม” ที่เอเวอเรสต์เบสแคมป์ในเมืองรื่อ คาเจ๋อ หรือสำรวจทรัพยากรการท่องเที่ยวในอาหลี่ อาทิ ทะเลสาบหม่าผางยงชั่ว เขาไกรลาส ซากปรักหักพังอาณาจักรโบราณกู่เก๋อ เป็นต้น ล้วนทำให้ผมรู้สึกว่า การเดินทางครั้งนี้ไม่เสียเปล่า แถมยังทำให้ผมประจักษ์ชัดว่า ทำไมนักท่องเที่ยวทั่วโลกจึงพากันหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของทิเบตมากเป็นพิเศษ

เขียนโดย ชุย อี๋เหมิง ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)