Health & Beauty

'วิ่งระยะไกล'กระดูกคอเสื่อมจริงหรือไม่..? มาทำความรู้จัก'โรคกระดูกคอเสื่อม'



กรุงเทพฯ-หลังปรากฎข่าว "นักร้องหนุ่มชื่อดังป่วยกระดูกคอกดทับเส้นประสาท” โดยแพทย์ที่ทำการรักษาเผยสาเหตุว่าเกิดจาก “กระดูกคอเสื่อม” นพ.พล อนันตวราศิลป์ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ เผยว่า “กระดูกคอเสื่อม” เกิดได้กับทุกคน สาเหตุการเกิดได้แก่ อายุที่มากขึ้น, ได้รับอุบัติเหตุบริเวณช่วงคอ, การใช้งานที่ไม่เหมาะสม ส่วนเรื่องของการวิ่งระยะไกลอาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้กระดูกคอเสื่อม อาจจะมีปัจจัยอื่นๆในการใช้งานร่วมด้วย ตัวอย่างเช่นเรื่องของลักษณะของการก้มคอ หรือการขยับคอมาก ทั้งลักษณะทำซ้ำๆ เป็นเวลานาน หรือสะบัด โยกศีรษะแรง ๆ พวกนี้มาทำให้มีการทำให้ข้อเสื่อมได้มากกว่า

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่พบมากที่สุดเกิดจากความเสื่อมของกระดูกที่ถูกใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างยาวนานตามอายุ โดยโรคดังกล่าวพบได้ตั้งแต่วัยกลางคน และพบมากในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีท่าทางและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ที่เราทำร้ายคอตัวเองไม่รู้ตัว เช่น การก้มคอเล่นมือถือ การนั่งหลังไม่พิงพนักพิง การนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งโต๊ะทำงานอย่างผิดสุขลักษณะ โดยพฤติกรรมดังกล่าวนั้นทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้น โดยเบื้องต้นจะเกิดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ร้าวลงแขน บางรายอาจมีอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย

นพ.พล ยังเผยถึงสัญญาณเตือนว่ากระดูกคอเริ่มเสื่อม จะเริ่มต้นด้วยการปวดคอ มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือ ลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง หากปล่อยให้ปวดเรื้อรังต่อไปจนเกิด “กระดูกงอก” หรือ “หินปูนเกาะ” จนกดทับเส้นประสาท จะทำให้ปวดร้าวตามแขนจนถึงนิ้วมือ เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลุกลามจนกระทั่งเดินไม่ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการเข้าข่ายควรรีบพบแพทย์ โดยแพทย์จะเริ่มรักษาด้วยยาร่วมกับกายภาพบำบัด หากไม่ได้ผล จะให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัดต่อไป และต้องใช้เวลารักษาฟื้นฟูหลายเดือน หรือนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือจากสถิติของโรงพยาบาลเอสไปน์ พบว่าในปัจจุบันคนไข้ที่มีภาวะกระดูกคอเสื่อมมีมากขึ้น และคนไข้ส่วนใหญ่มาด้วยอาการปวดคอกับชาเลย แต่เมื่อมาทำการวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์ร่วมกับการทำ MRI ถึงได้ทราบว่าคนไข้เป็นโรคกระดูกคอเสื่อม ส่วนการรักษาขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่นเรื่องของอาการของคนไข้รวมถึงผลตัว MRI หากพบว่ามีการกดทับของเส้นประสาทจริง ก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ว่าเส้นประสาทมีความเสียหายเยอะ การรักษาก็ต้องมีการผ่าตัดเข้าไปลดการกดทับของตัวเส้นประสาท แต่ว่าด้วยวิธีไหนนั้นขึ้นอยู่แต่ละคน อย่างเช่นในกลุ่มของการรักษาด้วยการจี้เลเซอร์ก็จะเหมาะกับคนไข้ที่เป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทแต่อาจจะเป็นระดับที่ไม่เยอะมาก หากพบว่าคนไข้มีอาการเยอะมากขึ้น หรือมีหินปูนเกาะร่วมด้วย การรักษาจะต้องเป็นลักษณะของการส่องกล้องเข้าไปเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทจากทางด้านหลัง หรือว่าในรายที่มีอาการแบบหมอนรองกระดูกค่อนข้างใหญ่หรือว่าการกดทับเส้นประสาทมาก อาจจะต้องทำการนำหมอนรองกระดูกเดิมออกแล้วใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไป

นพ.พล ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าเราสามารถสังเกตอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่าย ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณคอนำมาก่อน ซึ่งบางรายอาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่แขนหรือที่มือร่วมกับมีอาการชา อาการอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางรายอาจจะทำให้แยกกับโรคออฟฟิศซินโดรมได้ยาก โดยอาจมีอาการปวดไปที่ศีรษะร่วมด้วย จึงทำให้นึกว่าเป็นอาการปวดศีรษะไมเกรน แต่ที่แท้จริงแล้วอาจมีโรคของหมอนรองกระดูกคอเสื่อมซ่อนอยู่ก็เป็นได้ โดยถ้าระยะโรคดำเนินไปถึงขั้นท้าย ๆ จะมีอาการหยิบจับของลำบาก ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ หรืออาจจะทำให้การเดินทรงตัวลำบากมากขึ้นได้

ดังนั้นหากพบว่ามีอาการ ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อรับการตรวจ X-Ray หรือ MRI เพื่อทำการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะแม้อาการปวดอาจบ่งบอกถึงตำแหน่งที่ถูกกดทับได้ แต่เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย การตรวจด้วยเครื่อง MRI จึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสามารถแสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาทโดยหมอนรองกระดูกที่เคลื่อน หรือความเสื่อมของกระดูกคอได้อย่างชัดเจน