In Bangkok
เขตมีนบุรีเปิดแล้วสวนสุดสายที่ปลายราม ชมคัดแยกขยะการไฟฟ้าลาดกระบัง
กรุงเทพฯ-(1 ต.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที สวนสุดสายที่ปลายราม บริเวณแยกรามคำแหง-สุวินทวงศ์ ซึ่งเขตฯ ได้ปรับพื้นที่เพื่อปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำทางเดินวิ่งรอบสวน สร้างสะพานข้ามบ่อน้ำ จัดทำชิงช้าใต้ต้นไม้ใหญ่ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ตัดริบบิ้นเปิดสวนสุดสายที่ปลายรามอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งร่วมกันปลูกต้นไทรย้อยใบแหลม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความสดชื่นสวยงามภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนมีนบุรีภิรมย์ ถนนสีหบุรานุกิจ บริเวณหลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน จุดเด่นของสวนคือ เสาชิงช้าจำลอง
ซึ่งตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางสวน 2.สวนธนาคารต้นไม้มีนบุรี พื้นที่ 1 ไร่ เป็นแหล่งขยายพันธุ์ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น และพืชผักไว้แจกจ่ายประชาชน 3.สวนสุดสายที่ปลายราม ถนนรามคำแหง พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 4.สวนซอยสามวา 3 พื้นที่ 2 งาน อยู่ระหว่างดำเนินการแล้วเสร็จ 85% 5.สวนถนนบึงขวาง ซอย 13 พื้นที่ 12 ไร่ อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ ทำคันดิน ทำร่องน้ำ ปลูกต้นไม้ยืนต้น 6.สวนนิมิตใหม่ พื้นที่ 250 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนหลังคอนโอแอทโมโฟลว์ มีนบุรี ถนนสีหบุรานุกิจ อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนซอยบัวขาว พื้นที่ 750 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนหลังแฟลตอัยการมีนบุรี พื้นที่ 450 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่เหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมภายในสวน เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ถนนสุวินทวงศ์ ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ซึ่งมีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 9 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 9 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เน้นย้ำสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ การไฟฟ้านครหลวง เขตลาดกระบัง ถนนสุวินทวงศ์ พื้นที่ 35,746 ตารางเมตร พนักงาน 226 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์ แม่บ้านจัดเก็บทุกวัน เศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ จะมีเกษตรกรมารับไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนเศษใบไม้และกิ่งไม้ นำไปทำปุ๋ยไม่กลับกอง 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังแยกขยะรีไซเคิลประจำชั้น พนักงานจะคัดแยกขยะรีไซเคิลก่อนทิ้ง แม่บ้านจะรวบรวมนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังแยกขยะทั่วไปประจำชั้น แม่บ้านเก็บรวบรวมใส่ถุงดำนำไปทิ้งที่จุดพักขยะ เขตฯ จัดเก็บ 2 ครั้ง/สัปดาห์ 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งขยะอันตราย รวบรวมไปไว้ที่จุดพักขยะ เขตฯ จัดเก็บตามนัดหมาย 5.ขยะติดเชื้อ ตั้งวางถังขยะติดเชื้อบริเวณสถานพยาบาล แม่บ้านเก็บรวบรวมใส่ถุงแดงนำไปไว้ที่จุดพักขยะ รอบริษัทกรุงเทพธนาคมมารับไปกำจัด 1 ครั้ง/2 สัปดาห์ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 43,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 36,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 4,320 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 2,650 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย
พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 96 ราย ได้แก่ 1.ถนนราษฎร์อุทิศ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 2.ถนนสามวา ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. 3.ถนนสีหบุรานุกิจ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 4.ถนนสุวินทวงศ์ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 5.ถนนหทัยราษฎร์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าแล้ว 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนรามคำแหง ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ ผู้ค้า 3 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนสามวา ผู้ค้า 8 ราย 2.ถนนสีหบุรานุกิจ ผู้ค้า 25 ราย กำหนดยกเลิกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณหน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ซอยรามคำแหง 190 สามารถรองรับผู้ค้าได้ 90 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่หน้าหมู่บ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดหาผู้ค้าเข้าพื้นที่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการนี้มี นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล