In Global

การเปลี่ยนผ่านสู่อัจฉริยะ-ดิจิทัลสร้าง ความได้เปรียบในการแข่งขัน



ปักกิ่ง, 1 ต.ค.  (ซินหัว)-การพัฒนาของเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 5G และอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอัจฉริยะและความเป็นดิจิทัลของอุตสาหกรรมการผลิตในจีนอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่การผลิตหลัก และมอบโซลูชันที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบการ

ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ระบุว่า ประเทศจีนมี “โรงงานประภาคาร”  (Lighthouse Factory) หรือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่มาสร้างประโยชน์ในเชิงธุรกิจ มากถึง 62 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 40 ของทั้งหมดในโลก ทั้งยังมีโรงงานสาธิตการผลิตอัจฉริยะระดับประเทศ 421 แห่ง และโรงงานดิจิทัลและโรงงานอัจฉริยะระดับประเทศและมณฑลมากกว่า 10,000 แห่ง ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัจฉริยะมาใช้ช่วยทำให้กระบวนการผลิตมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้นและช่วยลดต้นทุน จึงเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก

บริษัท เจียงซู คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด (Jiangsu Contemporary Amperex Technology Limited) หรือ JCATL ตั้งอยู่ในเมืองลี่หยาง มณฑลเจียงซู ได้รับการจัดให้เป็น “โรงงานประภาคาร” ช่วงปลายปี 2023 ซึ่งเป็นแห่งที่สามของบริษัทในเครือ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของจีน โดย CATL มีดีกรีเป็นเจ้าของโรงงานประภาคารที่เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งมีอยู่เพียงแค่สามแห่งในโลก

โรงงานผลิตและประกอบของ JCATL  ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่หนึ่งเซล์ได้ทุกหนึ่งวินาที และผลิตแพ็คของเซลล์แบตเตอรี่ได้ทุกสองนาทีครึ่ง ส่งผลให้กำลังการผลิตของ JCATL เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 320 ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิต การปล่อยคาร์บอน และข้อบกพร่องด้านคุณภาพ ก็ลดลงร้อยละ 33 ร้อยละ 47.4 และ ร้อยละ 99 ตามลำดับ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำระบบการจัดการข้อมูลแบบบูรณาการมาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลข้อมูลในระบบคลาวด์ (cloud computing) ทำให้สามารถติดตามข้อมูลการผลิตแบบเรียลไทม์ รวมถึงสร้างความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทานได้

เมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มตระหนักว่าการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอัจฉริยะและดิจิทัลไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดและหนทางสร้างการเติบโตขององค์กร

เฉินเหยียนซุ่น ประธานบริษัท บีโออี เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (BOE Technology Group Co., Ltd.)  ซึ่งเป็นผู้ผลิตหน้าจอแสดงผลชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเอไออย่างมาก โดยจัดสรรเงินทุนวิจัยและพัฒนาร้อยละ 1.5 ให้กับการพัฒนาเอไอ บริษัทยังสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีหลักในด้านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (big model training) ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) IoT และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการอย่างลึกซึ้งระหว่างเอไอกับอุตสาหกรรม

สำหรับอุตสาหกรรมดั้งเดิม การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอัจฉริยะและดิจิทัลถือเป็นบันไดสำคัญในการก้าวกระโดดไปสู่กำลังการผลิตที่มีคุณภาพและการสร้างนวัตกรรมใหม่ เลี่ยวเจิงไท่ ประธานกรรมการบริษัท ว่านหัว เคมีคอล (Wanhua Chemical) กล่าวว่า บริษัทได้ใช้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและอัจฉริยะเป็นหลักสำคัญในการบริหารในปีนี้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิธีการผลิตให้เป็นระดับไฮเอนด์ อัจฉริยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในและการประสานงานภายนอกให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน และบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

เหรินเฟิง ซีอีโอร่วมของอินซิลิโค เมดิซิน (Insilico Medicine) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ กล่าวว่า นอกจากอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์แล้ว เรายังสามารถนำเอไอไปใช้ในภาคเคมีสีเขียว (Green chemistry) เกษตรกรรม และอื่ ๆ ได้ด้วย  อาทิ ซินเจนทา กรุ๊ป (Syngenta Group) ซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมการเกษตรได้ร่วมมือกับซิลิโค เมดิซิน เพื่อนำเอไอไปใช้ในด้านพฤกษศาสตร์และเกษตรกรรม เพื่อค้นพบโมเลกุลใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรมเชื่อว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอัจฉริยะและดิจิทัลได้พัฒนาจากกรณีศึกษาไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และคาดว่าจะมีการขยายไปในวงกว้างและจริงจังมากขึ้นในหลายภาคส่วน

(เรียบเรียงโดย Yu Huichen, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/468144_20241002 , https://en.imsilkroad.com/p/342330.html)

ภาพประกอบข่าว
(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายทางอากาศด้วยโดรน เผยให้เห็นพนักงานคนหนึ่งกำลังควบคุมเครื่องจักรดิจิทัลเพื่อผลิตชิ้นส่วนภายในโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองอิ๋นชวน เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน)