In News

อบจ.ราชบุรี-สมุทรสงครามจับมือพัฒนา คลองประดู่แก้ปัญหาน้ำเสีย



 

ราชบุรี-นายก อบจ. ราชบุรี ร่วมกับ นายกอบจ.สมุทรสงคราม พร้อมผู้นำในพื้นที่ร่วมกันบูรณาการพัฒนาคลองประดู่ แก้ปัญหาน้ำเสียที่มีมาอย่างยาวนานและส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างยั่งยืน 

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.64 นายวิวัฒน์  นิติกาญจนา  นายกอบจ.ราชบุรี พร้อม นางสาวสุกานดา ปานะสุทธะ นายกอบจ.สมุทรสงคราม, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอวัดเพลง ตัวแทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนชลประทานราชบุรี  คณะผู้บริหาร อบจ.ราชบุรี  คณะผู้บริหาร อบจ.สมุทรสงครามพร้อมสมาชิกฯ ข้าราชการ  ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต.วัดเพลง ต.วัดยางงาม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ผู้นำชุมชนตำบลวัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามร่วมลงเรือสำรวจปัญหาในพื้นที่ 2 ฝั่งคลองประดู่ จ.สมุทรสงครามและอ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นคลองประวัติศาสตร์กั้นระหว่าง 2 จังหวัด

โดยในวันนี้ได้มีการประชุมหารือกำหนดแนวทางพัฒนา แก้ไขปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และพลักดันและส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว วิถีชุมชน และวัฒนธรรมในอนาคตของวัดประดู่ร่วมกัน ณ ห้องประชุมริมน้ำ บ้านสวนส้มทิพย์ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี เบื้องต้นในที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาทั้ง 2 ฝ่าย 1 ทีมแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสีย และปรับปรุงเสริมสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีกรมเจ้าท่า  ชลประทาน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อร่วมกันศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ปัญหาคลองประดู่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปสองฝ่ายได้ประชุมหารือร่วมกัน  มีผู้นำชุมชนแจ้งเรื่องปัญหาผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยคลองประดู่มีต้นน้ำมาจาก อ.ปากท่อ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี  ลงสู่แม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน อ.อัมพวา ก่อนไหลลงสู่ปากอ่าวที่ จ.สมุทรสงคราม ช่วงที่ผ่านมา จ.สมุทรสงคราม มีปัญหาน้ำเสียจากพื้นที่ต้นน้ำ ไหลไปลงด้านท้ายน้ำ ส่งผลให้สัตว์น้ำของเกษตรกรได้รับผลกระทบ  อีกทั้งสภาพคูคลองมีลักษณะตื้นเขิน  มีวัชพืชอยู่ริมคลอง ยังไม่ได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

คลองประดูเป็นคลองที่มีน้ำจากคลองหลายสายไหลมารวมกัน ส่งผลให้น้ำเสียจากพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำขี้หมู น้ำเสียจากบ้านเรือน ไหลมารวมกันอยู่ และสภาพคลองที่ตื้น ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ซึ่งน้ำเสียทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไหลลงไปสู่จังหวัดสมุทรสงคราม ส่งผลให้การประมง การเกษตร ของทาง จ.สมุทรสงครามได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งนี้ ทางจ.ราชบุรี ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่ไม่ได้มีการร่วมมือกันของทั้งสองจังหวัด คือจังหวัดต้นน้ำ และจังหวัดปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยจะดำเนินการค้นหาต้นตอของน้ำเสีย และทำการอุด หรือ บำบัด เพื่อไม่ให้มีน้ำเสียไหลลงมา ชาวบ้านที่อยู่ริมคลองก็มีความสุข การประมงของ จ.สมุทรสงครามก็ได้ผลผลิตดีขึ้น เรียกได้ว่าการลงมาตรวจสอบในครั้งนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดที่สุด

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี