Health & Beauty

ปธ.กมธ.วิสามัญคุมเหล้ารับเด็กอุทนถวาย จัดพลังอาสาฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเชียงราย



อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันขอเป็นพลังอาสาฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วมใหญ่  ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน อุเทนถวาย เกือบ 100 ชีวิต ยกพลขึ้นเชียงราย ช่วยเหลือชาวบ้าน  เยาวชนจากศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 ชีวิต เดินทางมาร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ฟื้นฟู ตักโคลนล้างบ้าน  ด้านนายวิสาร ประธาน กมธ.วิสามัญ พรบ.คุมเหล้า ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พร้อมหนุนเสริมภารกิจเยาวชนช่วยชาวเชียงรายสู้ภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมานายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จังหวัดเชียงราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (27-29 กย.) ได้เดินทางมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ผู้ประสบภัยในพื้นที่  และได้เดินทางไปมาเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย และศิษย์เก่า  ที่ประจำการอยู่ที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย  ได้ร่วมสนับสนุนเงินและสิ่งของกับโครงการ  “หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน”  และหลังจากนั้นกรรมาธิการฯได้เดินทางไปยังบ้านเกาะลอย อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อพบปะกับนักศึกษาอุเทนถวายที่ทำงานกันอยู่ในพื้นที่  ได้มอบอาหารให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม  และทานข้าวกับน้อง ๆ  นักศึกษา

“ในฐานะที่เป็นคนเชียงราย ต้องขอบคุณน้อง ๆ ชาวอุเทนถวายและรุ่นพี่ทุกคน  ที่เดินทางไกลเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบกับความทุกข์ยากในเวลานี้   ทราบมาว่าในแต่ละวันทุกคนมีภารกิจที่หนักหน่วงกันมาก  ทั้งที่จุดจัดการของบริจาคร่วมกับเพจอีจัน  และในพื้นที่ประสบภัย  ทำงานกันชนิดแทบไม่ได้พัก  ได้เห็นภาพที่น้องๆนอนพักกลางวันทั้งที่เนื้อตัวยังเต็มไปด้วยโคลนแล้ว  ยังต้องลุกขึ้นมาทำงานต่อ  ยิ่งรู้สึกเห็นใจและชื่นชมในความเป็นนักสู้ของทุกคน หากต้องการความช่วยเหลือให้ประสานงานมาได้ตลอด” นายวิศาล กล่าว  

นายเตชาติ์  มีชัย ประธานมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัวมกล่าวว่า  ท่ามกลางความโกลาหลหลังเกิดภัยพิบัติฝนตกถล่มเชียงรายในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 9-14 กันยายนที่ผ่านมา  ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย  บ้านเรือนเสียหายมากกว่าห้าหมื่นครัวเรือน  หลายหน่วยงานเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูความเสียหายที่มาพร้อมกับความรุนแรงของกระแสน้ำและดินโคลนจำนวนมหาศาล   กลุ่มคนเล็กๆสองกลุ่มที่เข้าพื้นที่มาปฏิบัติภารกิจอย่างเงียบๆ และสม่ำเสมอ  เรียกได้ว่าสายตัวแทบจะขาดในแต่ละวัน   กลุ่มแรกพวกเขาคือคนหนุ่มสาวชาวอุเทนถวาย ที่ในอดีตมักถูกสังคมตัดสินตีตรา  ในนามเด็กอาชีวะที่มักจะมีข่าวทะเลาะวิวาทต่างสถาบัน  แต่วันนี้พวกเขาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง และศิษย์เก่าเกือบ 100 ชีวิต พร้อมใจกันมาทุ่มเทแรงกายแรงใจเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมเชียงราย  แม้จะรู้ว่าต้องมาเจองานที่ยากและหนักยิ่งก็เต็มใจที่จะมา   และอีกกลุ่มคือเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 คน พร้อมเจ้าหน้าที่  ก็เดินทางเข้าพื้นที่ด้วยเช่นกัน  ซึ่งเป็นภารกิจที่ถูกจัดขึ้นแทบทุกครั้งที่มีภัยพิบัติครั้งใหญ่ๆในประเทศ เช่น กรณี คลื่นยักษ์สึนามิที่พังงา  ดินถล่มที่ลับแล เป็นต้น โดยเป็นการตัดสินใจร่วมกันของเยาวชนในศูนย์ฝึกแห่งนี้   ซึ่งทุกคนต้องการใช้พลังกายพลังใจตอบแทนคืนสู่สังคมในยามที่ยากลำบากแบบนี้   มูลนิธิฯเป็นเพียงลมใต้ปีกผู้ที่คอยสนับสนุนภารกิจของทั้งสองกลุ่มนี้ให้ลุล่วง และพยายามระดมทรัพยากรช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ 

นายศุภชัย ลิ้มพิพัฒนโสภณ  นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าวว่า ช่วงมีข่าวน้ำท่วมหนักที่เชียงราย  พวกเรารุ่นพี่รุ่นน้องอุเทนถวาย ได้จัดทำโครงการอาสารวมน้ำใจคนไทย กู้วิกฤตภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย  โดยเบื้องต้นระดมเงินจากรุ่นพี่ๆ  หน่วยงานห้างร้าน องค์กรเครือข่ายเพื่อสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม  โคลนถล่มในจังหวัดเชียงราย  เราเดินทางเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  แบ่งภารกิจเป็นสองส่วนคือส่วนแรกประจำการที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย สนับสนุนภารกิจจัดการกับของบริจาค ในโครงการ “หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน”  ที่จะส่งมอบอุปกรณ์ของใช้จำเป็นให้บ้านที่ได้รับผลกระทบหนัก  ช่วยเหลือตัวเองได้ยากลำบาก  เช่น ที่นอน หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส ฯลฯ  ส่วนที่สองจะเข้าไปในพื้นที่ที่น้ำท่วมโคลนถล่ม ไปช่วยตักโคลน  ล้างบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอย่างดีทำให้ภารกิจที่วางไว้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  

ด้านนายอนนทกรณ์ นาดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย กล่าวว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก  พวกเขาลำบากเราก็เห็นใจ พวกเราทุกคนมีความสุขได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่เหมือนลูกเหมือนหลาน  น้อง ๆที่มาช่วยก็เต็มใจมา รู้สึกดี  เห็นแววตาที่ชาวบ้านมองเราอย่างเอ็นดู  อยากชักชวนเพื่อนคนนักเรียนนักศึกษามาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  มาช่วยเหลือชาวบ้านในยามที่ทุกคนกำลังแย่  ผมคิดว่าการมีกิจกรรมแบบนี้ เป็นเรื่องที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและน้อง ๆ ที่มาร่วมด้วย  แม้ว่าเราจะเหนื่อย หนัก และได้พักผ่อนน้อย แต่เราก็มีความสุขทุกครั้งที่ออกไปทำงาน  เวลาที่ได้ยินเสียงขอบคุณ  แววตาของความเมตตาจากชาวบ้านที่มองเรา  การโอบกอดเราอย่างลูกหลานคือพลังใจที่เราได้กลับมา

ด้านนายเอ นามสมมุติ  เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก  กล่าวว่า พวกเราเดินทางมาเชียงรายด้วยความสมัครใจ  กว่า 20 ชีวิต  และยังมีเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่บ้านกาญ คอยไปเป็นอาสาสมัครช่วยจัดการของบริจาคของมูลนิธิกระจกเงาที่กรุงเทพ  ตามที่ได้รับแจ้งภารกิจมา  ก่อนการตัดสินใจทำภารกิจในครั้งนี้  ป้ามล ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก  ได้เปิดโอกาสให้พวกเราได้พูดคุยกัน  หาข้อมูล  ตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่เชียงราย  ส่วนคนที่ไม่ได้ไปจะต้องพร้อมสแตนบายสำหรับภารกิจอาสาที่กรุงเทพ   เราได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ จากพี่ๆที่เคยเป็นศิษย์เก่าบ้านกาญ  มูลนิชนะใจ  มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายที่เป็นกัลยาณมิตรกับบ้านกาญจนา  พวกเรารู้ดีว่าการมาในครั้งนี้ต้องเจองานใหญ่แน่นอน  ซึ่งในความจริงที่มาก็เจองานหนักจริงๆ  ในแต่ละวันการเข้าพื้นที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  งานตักโคลน ล้างบ้าน  ทำความสะอาดทุกอย่าง  ต้องใช้พลังกายพลังใจอย่างมาก  มีเวลาพักน้อยต้องทำงานแข่งกับเวลา  แต่สิ่งที่ตอบแทนกลับมามันมีคุณค่ามากๆสำหรับพวกเราคือ  รอยยิ้ม คำขอบคุณและความเมตตาของลุงป้าน้าอา  ที่เราเข้าไปช่วย  เหมือนกับพวกเราเป็นลูกหลานจริงๆ  หลายๆบ้านคุณตาคุณยายร้องไห้บอกให้เราแวะมาเยี่ยมด้วยนะถ้ามีโอกาส  เรารู้สึกได้เลยว่านี่คุณค่า  คือความหมายที่พวกเราตามหามานาน  และไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจมาที่นี่แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม