In News
นายกฯสั่งศปช.ส่วนหน้าทุกจ.เสี่ยงน้ำท่วม เฝ้าระวังรายชั่วโมงเตือนเชียงใหม่-ลำพูน
กรุงเทพฯ-นายกฯ สั่งการเพิ่ม ศปช.ส่วน หน้าทุกจังหวัดที่มีภาวะความเสี่ยงเพื่อประเมินสถานการณ์รายชั่วโมงให้กับประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ ด้านศปช. ออกเตือน 3 อำเภอ จ.เชียงใหม่-7 ตำบล อ.เมืองลำพูน เตรียมรับน้ำปิง ประกาศอพยพกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง
วันนี้ (7 ตุลาคม 2567 ) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมศปช.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำปิงที่เอ่อล้นเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่า ระดับน้ำที่ จุด P.1 สะพานนวรัฐ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับตลิ่งที่ 3.70 เมตรได้ภายในวันนี้
อย่างไรก็ตามจากการติดตามมวลน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำปิง ที่เคลื่อนตัวผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ พบว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำปิง ซึ่งขณะนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สารภี อ.หางดง และ อ.สันป่าตอง เคลื่อนย้ายสัตว์ สิ่งของ ยานพาหนะขึ้นที่สูง และให้อพยพผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงใหม่ และสถานที่ปลอดภัย ภายใน 24 ชั่วโมง หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านสายด่วน 1567 ได้ทันที
สำหรับพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ จ.ลำพูน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนภัยระดับ 3 ในพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 7 ตำบล ของอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ได้แก่ ตำบลเหมืองง่า ตำบลอุโมงค์ ตำบลต้นธง ตำบลประตูป่าตำบลริมปิง ตำบลหนองช้างคืน ตำบลมะเขือแจ้ ให้เตรียมรับสถานการณ์ ขนย้ายสิ่งของและอพยพกลุ่มเปราะบาง
“จากการประเมินปริมาณน้ำที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ บางจุดเช่น ต.หนองผึ้งอาจมีน้ำท่วมสูง 0.8 - 1.5 ม. เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มต่ำของ จ.ลำพูน อาจเจอระดับน้ำสูง 0.8 - 1.5 ม. ได้เช่นกัน ส่วนพื้นที่ อ.เมืองลำพูน ระดับน้ำจะน้อยกว่าอยู่ที่ระดับ 0.3 - 0.5 ม. ขอให้บ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่ำและมีกลุ่มเปราะบางให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย” นายจิรายุ กล่าว
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 16 จุด รองรับประชาชนได้ 890 คน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าพักจริง 203 คน ส่วนการดูแลกลุ่มเปราะบาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สวนปรุง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และ รพ.ประสาทเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ 41 คน นอกจากนี้ยังมีการระดมทีม MCATT ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช และสหวิชาชีพ เข้าดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัยซึ่งส่วนใหญ่มีภาวะความเครียดสะสมในระดับสูง
ด้านการระบายน้ำ กรมชลประทาน ได้นำเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เร่งระบายนำ้ พร้อมกำจัดวัชพืชที่ขวางทางน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และให้น้ำไหลลงไปยังเขื่อนภูมิพลโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ปริมาณกักเก็บของเขื่อนภูมิพลยังอยู่ที่ระ 9,321 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 69% ของความจุเขื่อนเท่านั้น
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ยังคงการระบายน้ำอยู่ที่ปริมาณ 2,200 ลบ.ม./วินาที และได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อน เพื่อให้ปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคงที่และต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบให้กับที่ท้ายน้ำ ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวคันดินแตกเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้ตรวจสอบพบว่า เป็นคันดินชั่วคราวที่ใช้ป้องกันพื้นที่เกษตรบริเวณ ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำริมแม่น้ำ ซึ่งได้ทำคันดินชั่วคราวป้องกัน ซึ่งความเสียหายของคันดินดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้างแต่ประการใด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ศปช.ส่วนหน้า เปิดเผยว่าขณะนี้จังหวัดเชียงรายได้เปิดปฏิบัติการฟื้นฟูเชียงรายให้กลับคืนสภาพภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ โดยล่าสุด พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ลงพื้นที่ บ.ห้วยทรายขาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพื่อประเมินหน้างาน ก่อนระดมความช่วยเหลือ เครื่องมือทหารช่าง ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย
โดยก่อนหน้านี้ ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟู บ้านผาจม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งกองทัพเรือรับผิดชอบการฟื้นฟู โดยพบว่าแม้จะมีโคลนที่เป็นอุปสรรคในการคืนสภาพพื้นที่แต่โดยภาพรวมยังเดินหน้าตามแผน ทั้งนี้ได้ชื่นชมความเสียสละและความมุ่งมั่นของกำลังพลที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและกองทัพในการฟื้นฟูชุมชนเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่กองทัพอากาศ ได้นำกำลังพลจากกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เดินทางถึง กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ สนธิกำลังลุยน้ำเร่งอพยพประชาชนผู้ประสบอุทกภัยและแจกจ่ายอาหารน้ำดื่มให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่ ชุมชนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ชุมชนป่าแดด และอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสูงวัยออกจากพื้นที่ประสบภัยได้อย่างปลอดภัย