In Bangkok
กทม.ยกเลิกแผงค้ารามคำแหง39แยก1-3 พัฒนาที่ว่างสู่สวนพลอยพลับพลา
กรุงเทพฯ-วังทองหลางเตรียมยกเลิกแผงค้ารามคำแหง 39 แยก 1-3 พัฒนาที่ว่างสู่สวนพลอยพลับพลา พร้อมปลูกต้นทองหลางพันธุ์ไม้คู่เขตฯ ชมคัดแยกขยะคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา แก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะอาคารร้างประดิษฐ์มนูธรรม 1
(7 ต.ค. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวังทองหลาง ประกอบด้วย
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 เป็นจุดได้รับการร้องเรียนผ่านทาง Traffy Fondue มีการตั้งวางแผงค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นผิวจราจร ซึ่งเขตฯ จะพิจารณายกเลิกจุดดังกล่าว โดยย้ายผู้ค้าเข้าไปทำการค้าในพื้นที่ใกล้เคียงที่เขตฯ จัดเตรียมไว้ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 101 ราย ดังนี้ 1.ซอยลาดพร้าว 124 แยก 3-5 ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-11.00 น. 2.ซอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. (8 ราย) ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. (27 ราย) 3.ถนนอินทราภรณ์ ข้างห้างโลตัส สาขาศรีวรา ถึงหน้าอาคารเลขที่ 1139 ผู้ค้า 16 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. (12 ราย) ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. (4 ราย) 4.หน้าตลาดสะพานสอง (แนวใน) ตั้งแต่ปากซอยลาดพร้าว 45/1 ถึงปากซอยลาดพร้าว 49 ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 5.ปากซอยลาดพร้าว 98 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 6.ซอยลาดพร้าว 122 แยก 18 ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 87 แยก 10-26 ผู้ค้า 33 ราย 2.ซอยลาดพร้าว 101 แยก 3-29 ผู้ค้า 10 ราย (ยกเลิกเมื่อเดือนเมษายน 2567) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
พัฒนาสวน 15 นาที สวนพลอยพลับพลา บริเวณชุมชนริมคลองพลับพลา ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ จัดทำทางเดินวิ่ง ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ และไม้ผลนานาพันธุ์ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ร่วมกันปลูกต้นทองหลาง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ชื่อเดียวกับเขตฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ดังนี้ 1.สวนสาธารณะวังทอง 1 พื้นที่ 1 ไร่ 2.สวนสาธารณะวังทอง 2 พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนซอยลาดพร้าว 84 พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 6 แห่ง 1.สวนประติมากรรมภาวนาแห่งจันทร์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา 2.สวนธรรม วัดสามัคคีธรรม พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนสมุนไพรลาดพร้าว 84 พื้นที่ 1 ไร่ 4.สวนหย่อมด้านหน้าสภาวิศวกร พื้นที่ 2 งาน 5.สวนสาธารณะวังทอง 3 (สวนสาธารณะซอยลาดพร้าว 64 แยก 6) พื้นที่ 81 ตารางวา 6.สวนพลอยพลับพลา พื้นที่ 2 งาน 41 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้ามาใช้บริการ
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา พื้นที่ 56,250 ตารางเมตร เจ้าหน้าที่ 909 คน ประชาชนที่มาใช้บริการ 76,689 คน/เดือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2557 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ นำเศษใบไม้กิ่งไม้ไปบดย่อยเพื่อทำปุ๋ยหมัก ส่วนขยะเศษอาหารอยู่ระหว่างเข้าร่วมโครงการ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อนำไปขายเป็นรายได้ของคลินิก 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปจากต้นทาง ส่วนที่เหลือเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตรายจากต้นทาง เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 5.ขยะติดเชื้อ คัดแยกขยะติดเชื้อรวบรวมไว้ บริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินการจัดเก็บวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 70,280 กิโลกรัม/เดือน และปริมาณขยะทั้งหมดหลังคัดแยก 70,280 กิโลกรัม/เดือน โดยแบ่งออกเป็น ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 60,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 3,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1,200 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 5,580 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่คลินิกศูนย์แพทย์ฯ ในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย
ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยประดิษฐ์มนูธรรม 1 ซึ่งเป็นอาคารร้างถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเขตฯ ได้รับการร้องเรียนเรื่องการลักลอบทิ้งขยะ อีกทั้งเป็นจุดเสี่ยงอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน จากการสำรวจในพื้นที่เขตฯ พบว่ามีพื้นที่รกร้างและมีการลักลอบทิ้งขยะ จำนวน 6 จุด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของสำนักเทศกิจ ดำเนินการตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ พัฒนาทำความสะอาดจัดเก็บขยะให้เรียบร้อย ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ สืบหาเจ้าของอาคารให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด รวมถึงให้ฝ่ายรายได้สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าให้จัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด นอกจากนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่เป็นประจำ ป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างมาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว
ในการนี้มี นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวังทองหลาง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล